รัฐฟันสิทธิร่วมทุน2.5หมื่นล้าน ท่าเรือมาบตาพุด 3 กนอ.ใส่เงินคงที่ปีละ 616 ล้าน

12 พ.ย. 2561 | 06:29 น.
กนอ.เปิดขายทีโออาร์ ท่าเรือมาบตาพุดระยะ 3 เริ่ม 9-21 พ.ย. นี้ เผยเอกชนต้องจ่ายค่าสิทธิการร่วมลงทุน 6.39 พันล้านบาท รัฐจะมีรายได้ 2.56 หมื่นล้านบาท ขณะที่กนอ.ใส่เงินลงทุนเพียง 616 ล้านบาทต่อปี

โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 จะเริ่มเปิดขายซองหรือทีโออาร์ ระหว่างวันที่ 9-21 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นจะเปิดให้ภาคเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาเข้ารับฟังเงื่อนไขรายละเอียดของข้อกำหนดในวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2561 และจะมีการพิจารณาเพื่อคัดเลือกบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูล คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลในราวเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นางสาวสมจิณณ์  พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น ประมาณ 55,400 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 12,900 ล้านบาท และเอกชน 42,500 ล้านบาท ซึ่งแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก กนอ.จะร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน และให้เอกชนที่ร่วมลงทุนได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าลงทุนประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซ รองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 tp10-3416-a

ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนก่อสร้างท่าเรือโดยให้เอกชนลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลว รองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกนอ. เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับการร่วมทุนกับเอกชนในช่วงที่ 1 มีระยะเวลาไม่เกิน 35 ปีโดยมีระยะเวลาการออกแบบและก่อสร้าง ไม่เกิน 5 ปี ส่วนช่วงที่ 2 มีระยะเวลาไม่เกิน 32 ปี มีระยะเวลาออกแบบและก่อสร้างไม่เกิน 2 ปี

ทั้งนี้ การแบ่งผลประโยชน์ร่วมลงทุนกับเอกชนนั้น กนอ.จะมีการกำหนดผลตอบแทนทางการเงินขี้นตํ่าที่ภาครัฐจะได้รับจากเอกชนไว้ในเอกสารคัดเลือกเอกชน(ทีโออาร์) และใช้ผลตอบแทนทางการเงิน มาเป็นเกณฑ์ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชน

โดยการร่วมลงทุนกับเอกชนในช่วงที่ 1 นั้น ผลตอบแทนขั้นตํ่าที่ภาครัฐจะได้รับจากเอกชนเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิประมาณ 2,729 ล้านบาท ซึ่งเอกชนจะต้องชำระค่าสิทธิการร่วมลงทุนไม่ตํ่ากว่า 3,000 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมอื่นๆ และต้องชำระในช่วง 30 ปี ในสัดส่วนปีละเท่าๆ กัน ไม่เกิน 616.36 ล้านบาทต่อปี

ส่วนการร่วมลงทุนกับเอกชนในช่วงที่ 2 ผลตอบแทนทางการเงินขั้นตํ่าที่ภาครัฐจะได้รับจากเอกชนเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิประมาณ 6,582 ล้านบาท โดยเอกชนจะต้องชำระค่าสิทธิการร่วมลงทุนไม่ตํ่ากว่า 3,397 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐจะมีมาตรการสนับสนุนโครงการ ซึ่งในช่วงที่ 1 กนอ.จะเริ่มชำระเงินให้แก่เอกชน เมื่อเอกชนเริ่มประกอบกิจการท่าเรือก๊าซ โดยจะชำระในช่วงระยะการให้บริการและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี ในสัดส่วนไม่เกิน 616.36 ล้านบาทต่อปี ส่วนช่วงที่ 2 การได้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน

090861-1927-9-335x503

โดยโครงการดังกล่าวนี้ จะทำให้ประเทศมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวม 85,000 ล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง และทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดโครงการ ซึ่งภาครัฐจะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินรวมประมาณ 25,666 ล้านบาท ที่ได้มาจากค่าสิทธิการร่วมทุน และค่าธรรมเนียม อื่นๆ

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3416 ระหว่างวันที่ 8 - 10 พฤศจิกายน 2561 595959859