เปิดข้อมูลธุรกิจเดินเรือ! "ลางร้ายการค้า" ส่งออกจีน-สหรัฐฯ ปีหน้าลดฮวบ

05 พ.ย. 2561 | 10:16 น.
กำแพงภาษีที่สหรัฐอเมริกาตั้งขึ้นสกัดสินค้านำเข้าจากประเทศจีนรอบแรก มูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น คือ การระดมนำเข้าสินค้าจีนสู่สหรัฐฯ ก่อนที่ภาษีจะถูกปรับสูงขึ้น ทำให้ตัวเลขนำเข้าพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่หลังจากที่ภาษีปรับขึ้นไปแล้ว ยอดนำเข้าสินค้าที่อยู่ในรายการถูกปรับขึ้นภาษีก็ลดฮวบลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เชื่อว่าปรากฏการณ์จะเป็นลักษณะเดียวกัน สำหรับสินค้าอีก 2 กลุ่ม คือ สินค้าจีนที่อยู่ในกลุ่มถูกปรับขึ้นภาษีรอบ 2 มูลค่ารวม 16,000 ล้านดอลลาร์ และรอบ 3 รวม 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผลของการปรับขึ้นภาษีจะมีให้เห็นในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. นี้ (ตามลำดับ)

นอกจากยอดส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากผลของกำแพงภาษีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผลกระทบจากสงครามการค้าที่เห็นเป็นรูปธรรมในส่วนของจีน คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตํ่ากว่าความคาดหมายในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าผลจะออกมาแบบนี้ แต่ในระยะหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจเดินเรือเห็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนแล้ว เนื่องจาก 90% ของการค้าสินค้าระหว่างประเทศทุกวันนี้ใช้การขนส่งทางเรือ ดังนั้น การสังเกตข้อมูลการขนส่งสินค้าทางเรือจึงเป็นดัชนีสำคัญที่บ่งบอกแนวโน้มเศรษฐกิจได้


port1



ลุ้นผลกระทบชัดสิ้นปีนี้
แกรี่ หวัง ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีสแปน (เอสเอสดับเบิ้ลยู) ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าทางเรือรายใหญ่ที่สุดในโลก เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ที่แล้วมา ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวแรงครั้งก่อนหน้านี้ ข้อมูลจากการเดินเรือสินค้าส่งสัญญาณเตือนราว 6 เดือนล่วงหน้า มาในครั้งนี้เมื่อมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ มีผลในเดือน ก.ค. (2561) มีสัญญาณบางอย่างแสดงให้เห็นในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนที่มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ นั่นคือ มีการนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มขึ้นมาก โดยระหว่างเดือน เม.ย. - มิ.ย. 2561 จำนวนเรือคอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าจากจีนมายังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลการส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือระหว่างสหรัฐฯ และจีน (ข้อมูลจากฐานข้อมูลการค้าทางเรือ Seabury Global Ocean Trade Database) โดยเจาะสินค้าเป็นรายตัว จะพบว่า มีการนำเข้าพุ่งสูงหลังประกาศ (ว่าจะขึ้นภาษี) แต่จากนั้นเมื่อมาตรการภาษีมีผลบังคับใช้ การนำเข้าก็ดิ่งวูบลงเช่นกัน ยกตัวอย่าง เหล็กกล้าและอะลูมิเนียม สหรัฐฯ ประกาศจะขึ้นภาษีเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2561 หลังประกาศยอดนำเข้าจากจีนก็พุ่งขึ้น 21% แต่หลังจากมาตรการมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มี.ค. การนำเข้าก็ลดลง 53% ส่วนสินค้านำเข้าจากจีนชุดแรก มูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ประกาศมาตรการในวันที่ 3 เม.ย. 2561 ยอดนำเข้าพุ่งขึ้น 10% แต่หลังมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 ก.ค. ยอดนำเข้าก็ลดลง 21%


shipping1



ลางร้ายการค้าปีหน้า
สำหรับชุดที่ 2 และ 3 ซึ่งมีมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ และ 200,000 ล้านดอลลาร์ (ตามลำดับ) นั้น ชุดที่ 2 สหรัฐฯ ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ส่งผลให้มีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น 8% แต่หลังจากมาตรการมีผลบังคับใช้ (23 ส.ค.) ยังไม่มีการสรุปผลเป็นตัวเลขออกมา แต่คาดว่า ยอดการนำเข้าจะลดลงเช่นกัน ซึ่งจะทราบผลในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ ส่วนสินค้าชุดที่ 3 มูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลลาร์ ประกาศเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นระหว่างนั้น 7% แต่เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา คาดว่าการนำเข้าจะลดลง แต่จะรู้ผลอย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค. นี้

สินค้าจีนที่เคยมุ่งหน้ามายังตลาดสหรัฐฯ จำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศอื่น ๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน เยอรมนี และอิตาลี เป็นต้น นักวิเคราะห์กล่าวว่า เมื่อมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน มูลค่ารวม 200,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมให้เห็น นั่นก็จะเป็นฐานข้อมูลให้ประเมินสถานการณ์แนวโน้มการค้าในปีหน้า (2562) ได้เป็นอย่างดี "แต่นี่ก็จะเป็นเพียงยอดของภูเขานํ้าแข็งที่โผล่ส่วนเล็ก ๆ ขึ้นมาให้เราเห็น ผลกระทบจริงสำหรับปี 2562 คือ เมื่อมีการขยับขึ้นภาษีเป็น 25% (ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค.)" ไมเคิล ลูเท็น จาก หน่วยวิจัยข้อมูลการค้าทางเรือ ซีเบอรี กรุ๊ป ให้ความเห็น


ฝากความหวังซัมมิท จี20
สถานการณ์การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก (ตามลำดับ) รวมทั้งผลกระทบที่จะมีต่อการค้าโลกในภาพรวมนั้น จะเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตาและนำมาหารือกันในการประชุมของกลุ่มจี20 ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. ศกนี้ ที่ประเทศอาร์เจนตินา มีความพยายามที่จะให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้พบปะหารือกันในการประชุมระดับซัมมิทครั้งนี้

แม้คาดหวังได้น้อยว่า สถานการณ์การเผชิญหน้าจะคลี่คลายลงสู่ระดับปกติ แต่อย่างน้อยก็มีความหวังว่า การพบกันของทั้งสองอาจจะทำให้การโต้ตอบกันด้วยมาตรการภาษีมีการประวิงเวลาออกไปบ้าง


รายงาน | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,414 ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2561


e-book-1-503x62-7