'เอสเอ็มอี' ตื่นตัว! ยกระดับโลจิสติกส์ รุกตลาดออนไลน์

29 ต.ค. 2561 | 07:38 น.
ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจรูปแบบการใช้ระบบโลจิสติกส์ของเอสแอ็มอีมีอย่างหลากหลาย ชี้ 46.01%ให้ความสำคัญระดับปานกลาง เชื่ออีก 6 เดือน หรือ 1 ปี จะสำคัญมาก ตามเทรนด์เติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ ระบุ อยากลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและบรรจุภัณฑ์ เชื่อช่วยเพิ่มยอดขาย

รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจ "รูปแบบการใช้และการจัดการ Logistics SMEs ไทย" จากกลุ่มตัวอย่าง 1,221 ตัวอย่าง ว่า เอสเอ็มอีไทยมีการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์หลากหลาย โดยแบ่งตามสัดส่วน 26.48% เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบ/สินค้า , 22.97% จัดส่งสินค้า , 18.81% จัดการสต๊อกสินค้า , 12.51% การบรรจุหีบห่อ/บรรจุภัณฑ์ , 7.23% ทำเอกสารนำเข้า-ส่งออก , 6.63% วางแผนการผลิต และ 5.37% การจัดการสินค้ารับคืน โดยแทบทุกกิจกรรม กลุ่มตัวอย่างระบุว่า จะทำเอง ยกเว้นแค่การจัดส่งสินค้า กลุ่มตัวอย่างบอกว่าจะใช้วิธีว่าจ้างผู้อื่น


thumbnail_03

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงระดับความสำคัญของระบบโลจิสติกส์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.01% ระบุว่า สำคัญปานกลาง และเชื่อว่าในอีก 6 เดือน และ 1 ปีข้างหน้า จะมีความสำคัญมาก ซึ่งเป็นแนวโน้มเหมือนกันหมด ทั้งกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง จดทะเบียน และไม่จดทะเบียน ส่วนค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์เทียบกับค่าใช้จ่ายโดยรวมของกิจการ  กรณีทำเอง อยู่ที่ 30.56% ส่วนจ้างบริษัทภายนอก อยู่ที่ 13.33% ขณะที่ ค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสินค้าและบริการ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายโดยรวมของกิจการ กรณีทำเอง อยู่ที่ 18.99% ส่วนจ้างบริษัทภายนอก อยู่ที่ 15.77% ด้านกลุ่มตัวอย่าง 87.24% เผยว่า มีการเก็บสต๊อกสินค้าเพื่อรอการขาย และหากแยกเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เก็บสต๊อกสินค้ารอการขาย เฉลี่ย 24 วัน ส่วนธุรกิจขนาดกลาง เก็บสต๊อกสินค้ารอการขาย เฉลี่ย 35 วัน

นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ระบุตรงกันด้วยว่า เทคโนโลยีด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญมาก คือ การจัดส่งสินค้า โดยสาเหตุที่ธุรกิจยังไม่นำเทคโนโลยีมาใช้นั้น คำตอบ คือ กิจการมีขนาดเล็กจึงไม่จำเป็นต้องใช้ 29.85% , ไม่มีเงินทุนในการซื้อเทคโนโลยี 26.70% , กิจการไม่มีอะไรเกี่ยวกับเทคโนโลยีเลย 14.81% , เทคโนโลยียังไม่มีความจำเป็นกับกิจการ 13.83% , ไม่รู้ว่าจะใช้เทคโนโลยีอย่างไร 6.80% และอื่น ๆ 8.01% โดยกลุ่มตัวอย่าง 32.40% มีแผนจะลงทุนซื้อเครื่องมือเกี่ยวข้องระบบขนส่ง เทคโนโลยี และไอที ซึ่ง 74.32% จะใช้วิธีกู้ยืม เฉลี่ยวงเงินที่ต้องการ 237,217.39 บาท

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโส วิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า รูปแบบการใช้บริการขนส่งของเอสเอ็มอีนั้น กลุ่มตัวอย่าง 60.72% มีการดำเนินธุรกิจออนไลน์ (e-Commerce) โดยขนาดเล็กมีมูลค่าการดำเนินธุรกิจออนไลน์ คิดเป็น 26.52% ของมูลค่าทั้งหมด ส่วนธุรกิจขนาดกลางมีมูลค่าการดำเนินธุรกิจออนไลน์ คิดเป็น 31.94% ของมูลค่าทั้งหมด โดยใช้ออนไลน์ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 6 ปีเท่ากัน


thumbnail_06

สำหรับธุรกิจมีบริการจัดส่งสินค้าฟรี (Free Shipping) 61.99% และเมื่อแยกตามขนาดธุรกิจและการจดทะเบียนนิติบุคคล พบว่า ธุรกิจขนาดเล็กและไม่จดทะเบียนนิติบุคคล มีอัตราให้บริการดังกล่าวมากกว่าธุรกิจขนาดกลางและจดทะเบียนนิติบุคคลด้วยซ้ำ โดยส่วนใหญ่เลือกวิธีจัดการส่งสินค้าเอง ซึ่งพาหนะที่นิยมใช้ในการส่งสินค้า ทั้งส่งเอง และจ้างบริษัทขนส่ง ได้แก่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก รถตู้ และรถโดยสาร (ตามลำดับ)

ส่วนผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าที่ผู้ประกอบการนิยมมากสุด ได้แก่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 20.37% , Kerry 20.06% , บริษัท ขนส่ง จำกัด 16.76% , LINE MAN 12.78% , บริษัท รถโดยสารเอกชน 10.14% , การรถไฟแห่งประเทศไทย 8.71% , Grab 5.46% , LALAMOVE  2.55% , อื่น ๆ รถจักรยานยนต์รับจ้าง 1.46% , เครื่องบิน 0.95% และบริษัทรถขนส่งเอกชน 0.76%

ด้านรูปแบบการใช้บรรจุภัณฑ์นั้น กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนจากปัจจัยด้านความแข็งแรงและปลอดภัยในการขนส่ง รวมถึงเพื่อส่งเสริมการตลาด เช่น ความสวยงาม พกพาสะดวก โดยธุรกิจขนาดเล็กและไม่ได้จดทะเบียนให้คะแนนเฉลี่ยประมาณ 7.5 คะแนน ส่วนธุรกิจขนาดกลางและจดทะเบียนให้คะแนนเฉลี่ยประมาณ 8 คะแนน อีกทั้ง 21.28% มีแผนจะลงทุนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยต้องการวงเงิน 89,893.44 บาท และหากกู้เงินที่ต้องการได้ เชื่อว่าจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 23.13%

"มาตรการหรือความช่วยเหลือที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่าอยากได้รับจากภาครัฐ ได้แก่ 1.พัฒนากระบวนการจัดการระบบโลจิสติกส์ 2.ส่งเสริมหรือพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อจัดการระบบโลจิสติกส์ และ 3.พัฒนาระบบขนส่ง ส่วนความต้องการจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) คือ 1.สินเชื่อสำหรับปรับปรุงกระบวนการโลจิสติกส์ เช่น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งสินค้า และ 2.ส่งเสริมหรือพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับสินค้า การเลือกใช้เทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งสินค้าที่เหมาะสมกับธุรกิจ"

ด้าน นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ไม่ว่าจะเป็น ขนาดเล็ก ขนาดกลาง กลุ่มจดทะเบียน และไม่จดทะเบียนนิติบุคคล ต่างให้ความสำคัญด้านพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็น การจัดส่งสินค้า บริหารสต๊อกสินค้า พัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพราะมั่นใจว่าจะสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจจากการค้าออนไลน์ หรือ e-Commerce ซึ่งกำลังได้รับความนิยมและตลาดมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ธนาคารจะนำผลสำรวจดังกล่าวไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่และบริการสนับสนุน เพื่อมุ่งตอบตรงความต้องการของเอสเอ็มอีที่อยากลงทุนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ และช่วยลดต้นทุนการจัดส่งสินค้า นอกเหนือจากบริการต่าง ๆ ที่ธนาคารได้ดำเนินการมาแล้วหลายรูปแบบ


thumbnail_02

"ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ หรือ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ธนาคารมีสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษไว้บริการ เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับนิติบุคคล คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือ ผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) และสินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 3 ปีแรก เพื่อธุรกิจเกษตรแปรรูป ท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน และผู้ประกอบการใหม่ หรือ มีนวัตกรรม เป็นต้น"


e-book-1-503x62-7