สธ.พัฒนาระบบปลูกถ่ายอวัยวะทุกเขตสุขภาพ

26 ก.พ. 2559 | 09:28 น.
กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาระบบการปลูกถ่ายอวัยวะ เชิญชวนคนไทยสร้างบุญครั้งยิ่งใหญ่บริจาคอวัยวะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่รอรับบริจาคกว่า 5,000 คน พร้อมพัฒนาระบบบริการปลูกถ่ายอวัยวะในทุกเขตสุขภาพ ตั้งเป้าปลูกถ่ายไต 600 ราย

วันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 38 แห่งที่มีศักยภาพในการดำเนินการรับบริจาคอวัยวะและปลูกถ่ายไต รวมทั้งให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคไต และให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต ซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่า มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า อีกทั้งยังมีความคุ้มค่ากว่าการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไตทางหน้าท้อง

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่พบในการปลูกถ่ายอวัยวะ คือ คนบริจาคน้อยทำให้ขาดแคลนอวัยวะบริจาค รวมทั้งคุณภาพของอวัยวะที่บริจาคคุณภาพไม่ดี และส่วนใหญ่ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล โดยในปี 2558 มีผู้ป่วยรอรับอวัยวะทั้งหมด 5,018 คน ขณะที่มีผู้บริจาคอวัยวะเพียง 206 คน มีผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 463 คน และเสียชีวิตระหว่างรออวัยวะ 268 ราย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดทำโครงการปลูกถ่ายไต ถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 2  เมษายน 2558 – 1 เมษายน 2559 ตั้งเป้าปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายจำนวน 600 ราย ขณะนี้ปลูกถ่ายไตไปแล้ว 526 ราย เป็นไตที่ได้รับจากญาติ 190 ไต ได้รับบริจาคจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย 336 ไต พร้อมกันนี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว 38 แห่ง จัดระบบหาผู้บริจาคอวัยวะและเพิ่มความเข้มแข็งของระบบ โดยผ่านกระบวนการนำของผู้บริหารและเน้นการมีส่วนร่วมของทีมงานที่เกี่ยวข้อง

สำหรับแนวทางในการพัฒนาระบบบริการเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ลดระยะเวลารอคอยการปลูกถ่ายอวัยวะ เพิ่มการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะและเพิ่มอัตราการคงอยู่ของอวัยวะที่ปลูกถ่าย โดยเป้าหมายระยะยาวคือ เพิ่มศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะเขตสุขภาพละ 1 แห่ง และเพิ่มศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง เพื่อให้ผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนไตมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น

โดยใช้ 5 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน 2.การสื่อสารประชาสัมพันธ์ เรื่องการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ 3.พัฒนาระบบบริการการรับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะในโรงพยาบาล 4.พัฒนาบุคลากรและหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องกับระบบบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ และ5.การพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัย เพื่อรองรับระบบการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ