บสย. อัด 1.65 แสนล้าน! ช่วยเอสเอ็มอี เล็งปรับเงื่อนไขโครงการสตาร์ตอัพ

29 ต.ค. 2561 | 05:11 น.
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คือ อีกหนึ่งหน่วยงานของภาครัฐที่มีบทบาทในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยมีหน้าที่หลักชัดเจนในการช่วยค้ำประกันให้กับเอสเอ็มอีที่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์ "วิเชษฐ วรกุล" รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. ถึงบทบาทในระยะต่อไปที่จะดำเนินการเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีจากงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)


1.65 แสนล้าน สำหรับเอสเอ็มอี
วิเชษฐ บอกว่า ในระยะหลังจากนี้ บสย. จะมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็น 2 มาตรการหลัก ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. เรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วย 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทรัพย์ (PGS7) โดยมีวงเงินงบประมาณอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะแบ่งประเภทเอสเอ็มอีที่ให้การสนับสนุนออกเป็น 6 กลุ่มย่อย ได้แก่ 1.1 เอสเอ็มอีนิติบุคคล บัญชีเล่มเดียว โดยจะต้องเป็นเอสเอ็มอีประเภทนิติบุคคลที่ใช้งบการเงินส่งกรมสรรพากรในการพิจารณายื่นขอสินเชื่อ หรือ อยู่ภายใต้โครงการสินเชื่อนิติบุคคลบัญชีเล่มเดียวของสถาบันการเงิน ซึ่งจะมีวงเงินในการค้ำประกันทั้งหมด 2 หมื่นล้านบาท โดยจะฟรีค่าธรรมเนียมให้มากที่สุด ประมาณ 3.5% ในระยะเวลา 2 ปี วงเงินค้ำประกันสูงสุด 40 ล้านบาท


VOO2

1.2 เอสเอ็มอีรายเล็ก โดยเป็นกลุ่มที่มีทรัพย์สินถาวร ไม่รวมที่ดิน มีมูลค่ารวมไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยจะกำหนดวงเงินค้ำประกันไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อค้ำประกันเอสเอ็มอีรายเล็กให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะมีวงเงินงบประมาณทั้งหมด 3 หมื่นล้านบาท 1.3 เอสเอ็มอีทั่วไป โดยเป็นกลุ่มที่มีทรัพย์สินถาวร ไม่รวมที่ดิน ที่มีมูลค่ารวมไม่เกิน 200 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน 40 ล้านบาท งบประมาณทั้งหมด 1 หมื่นล้านบาท

1.4 เอสเอ็มอีประชารัฐและนโยบายรัฐผ่านธนาคารกรุงไทย โดยเป็นกลุ่มที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยตามนโยบายของรัฐบาล วงเงินงบประมาณอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะแบ่งการช่วยเหลือออกเป็น 4 กลุ่ม คือ สินเชื่อประชารัฐร้านธงฟ้า, สินเชื่อช่วยผู้ประกอบการรถตู้, สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมืองรอง และผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC)

1.5 เอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) วงเงินงบประมาณอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท โดยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวนี้จะได้รับการช่วยเหลือทั้งในด้านของอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงมาก และมี บสย. เป็นผู้ค้ำประกัน และ 1.6 โครงการเฉพาะกับรายธนาคาร โดยจะเป็นเอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่ได้รับสินเชื่อผ่านสถาบันการเงิน ซึ่ง บสย. จะทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง วงเงินงบประมาณอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท

และ 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยสร้างอาชีพ (MICRO3) วงเงินงบประมาณอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีกลุ่มเอสเอ็มอีเป้าหมายที่เป็นรายย่อยอย่างแท้จริง เช่น พ่อค้าหรือแม่ค้าในตลาด ผู้ค้าขายด้วยรถเข็น เป็นต้น ซึ่งจะมีวงเงินในการค้ำประกันไม่เกิน 2 แสนบาท โดยจะมีการคิดค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งจะอยู่ในกรอบประมาณ 1-2% โดยมีเครื่องมือในการพิจารณาความเสี่ยง อย่างไรก็ดี บสย. จะไม่คิดค่าธรรมเนียมในปีแรก ซึ่งปัจจุบัน มีธนาคารที่ทำ MOU แล้ว 9 ธนาคาร เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย และธนาคารทิสโก้ เป็นต้น

"วงเงินรวมของทั้ง 2 มาตรการดังกล่าว จะอยู่ที่ 1.65 แสนล้านบาท โดยมีอายุการรับคำขอประมาณ 2 ปี หรือจนถึงช่วงกลางปี 63 หรือจนกว่าวงเงินจะหมดก่อน ซึ่งล่าสุด โครงการ PGS7 เริ่มมียอดค้ำประกันแล้วประมาณ 7-8 พันล้านบาท"


ปรับเงื่อนไขเพื่อการเข้าถึง
วิเชษฐ บอกต่อไปอีกว่า บสย. ยังมีโครงการสตาร์ตอัพกับอินโนเวชัน ซึ่งจะหมดอายุโครงการสิ้นปีนี้ แต่คาดว่าวงเงินงบประมาณจะเหลือประมาณ 8 พันล้านบาท จากวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท โดย บสย. เตรียมที่จะนำเสนอ ครม. เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ หรือ วงเงินของโครงการดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับลูกค้ามากขึ้นภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงสินเชื่อและให้มีประโยชน์ต่อลูกค้ามากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวปล่อยสินเชื่อได้น้อย เพราะลูกค้าค่อนข้างมีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้ธนาคารไม่กล้าที่จะปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากเป็นลูกค้าที่ใหม่ ธนาคารเองก็มีความเป็นห่วงเรื่องของหนี้เสีย โดยคาดว่าจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่ได้ในปี 2562


VOO5

นอกจากนี้ จากมาตรการเดิมที่มีอยู่นั้น ในปี 2562 บสย. จะดำเนินการโครงการเดิมที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อีกประมาณ 2-3 ผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับกับมาตรการที่ดำเนินการอยู่ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะทำร่วมกับเฉพาะรายธนาคาร โดย บสย. มีซีรีส์ผลิตภัณฑ์ที่จะให้บริการผ่านธนาคารค่อนข้างครบ ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีการวางแผนกิจกรรมของผลิตภัณฑ์ที่จะทำร่วมกับแต่ละธนาคาร

"บางธนาคารจะมีการนำโครงการค้ำประกันของ บสย. ไปทำโครงการสินเชื่อพิเศษ พร้อมกับลดดอกเบี้ยลงไปอีก และเติมฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันให้ด้วย เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารออมสินต่างก็มีสินเชื่อนิติบุคคลบัญชีเล่มเดียว โดยสิ่งที่แต่ละธนาคารใช้ในการแข่งขันกัน เพื่อนำเสนอลูกค้าคือการค้ำประกันจาก บสย. รวมถึงลดอัตราดอกเบี้ยและปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการให้สินเชื่อ ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุด ก็คือ ผู้ประกอบการ เพราะหากไม่มีเรื่องการค้ำประกัน การปล่อยสินเชื่อของแต่ละธนาคารก็ไม่คล่องตัว หรือ ปล่อยไม่ได้ แต่เมื่อมี บสย. มาช่วยกระตุ้นก็จะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อเป็นไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น"


เพิ่มช่องทางแนะนำ บสย.
สำหรับประเด็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ บสย. เป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มของเอสเอ็มอีนั้น บสย. ได้ขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงินทุกแห่งใส่ชื่อ บสย. เป็นผู้ค้ำประกันในโบรชัวร์ จากเดิมที่มีบ้างไม่มีบ้าง เพราะเชื่อว่าข้อมูลของ บสย. จะสื่อไปถึงเอสเอ็มอีได้มากขึ้น ซึ่งก็จะทำให้ บสย. เป็นที่รู้จักมากขึ้น และการให้ข้อมูลของ บสย. ตั้งแต่จุดที่ให้บริการสินเชื่อของแต่ละธนาคาร


เรื่อง : นิธิโรจน์ เกิดบุญภานุวัฒน์
ภาพ : สุกฤษฎิ์ สืบสาย


หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3413 วันที่ 28-31 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62