ฟ็อกซ์คอนน์ซื้อกิจการชาร์ป หมายตาเทคโนโลยีรุกเป็นซัพพลายเออร์จอสมาร์ทโฟน

28 ก.พ. 2559 | 10:00 น.
ชาร์ป ตัดสินใจขายกิจการด้วยมูลค่า 6.6 แสนล้านเยนให้กับฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป ของไต้หวัน ที่หวังอาศัยเทคโนโลยีจอสมาร์ทโฟนของชาร์ปก้าวขึ้นมาเป็นซัพพลายเออร์หลักให้กับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างแอปเปิล

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการบริษัท ชาร์ป คอร์ปฯ ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประวัติยาวนานของญี่ปุ่น ตัดสินใจรับข้อเสนอซื้อกิจการของฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป จากไต้หวัน โดยตัดสินใจไม่เลือกข้อเสนอจากกลุ่มทุนท้องถิ่น คือ อินโนเวชั่น เน็ตเวิร์ก คอร์ป ออฟ เจแปน (ไอเอ็นซีเจ) ซึ่งมีรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุน ทั้งนี้ ฟ็อกซ์คอนน์จะเข้ามาถือหุ้น 65.9% ในชาร์ป

การตัดสินใจรับข้อเสนอจากบริษัทต่างชาติกลายมาเป็นที่สนใจ เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นมักจะลังเลที่จะปล่อยให้บริษัทท้องถิ่นตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติ อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์ของชาร์ปที่เผชิญกับปัญหาหนี้สินรุมเร้าและการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการบริษัทต้องตัดสินใจเลือกระหว่างแผนของไอเอ็นซีเจที่เสนอให้ปรับโครงสร้างด้วยการขายธุรกิจบางส่วน หรือทำธุรกิจในโครงสร้างเดิมต่อไปภายใต้บริษัทแม่จากต่างชาติ

นายโมโตโอะ ฮายาชิ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ชาร์ปเลือกข้อเสนอของฟ็อกซ์คอนน์หลังพิจารณาจากหลายมุม และเชื่อว่าตำแหน่งงานและเศรษฐกิจของภูมิภาคจะถูกปกป้อง

ฟ็อกซ์คอนน์เป็นผู้ผลิตไอโฟนหลักให้กับแอปเปิล ขณะที่ชาร์ปเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์จอภาพสมาร์ทโฟนและแท็บเลตรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงไอโฟนด้วย ข้อตกลงในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงแผนการของนายเทอร์รี เกา ประธานฟ็อกซ์คอนน์ ที่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นซัพพลายเออร์จอภาพให้กับสมาร์ทโฟนไฮเอนด์แข่งขันกับซัมซุง ดิสเพลย์ จากเกาหลีใต้

ที่ผ่านมาแอปเปิลซื้อจอภาพของไอโฟนและไอแพดจากผู้ผลิต 3 ราย คือ แอลจี ดิสเพลย์ เจแปน ดิสเพลย์ และชาร์ป ขณะที่รายงานจากเดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า แอปเปิลมีแผนจะนำจอภาพ OLED มาใช้กับไอโฟนอย่างเร็วในปีหน้า แต่ไม่ต้องการพึ่งพาเพียงซัมซุงในฐานะซัพพลายเออร์รายเดียว ซึ่งหมายถึงการเปิดโอกาสสำหรับซัพพลายเออร์รายอื่นรวมถึงชาร์ปด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัทวิจัย ซิกมา อินเทลล์ฯ ระบุว่า ปัจจุบันซัมซุงผลิตจอ OLED ในสัดส่วน 95% ของตลาด

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย ไอเอชเอสฯ ระบุว่า ชาร์ปมีส่วนแบ่งตลาดจอภาพโทรศัพท์มือถือเมื่อปีก่อนอยู่ที่ 10.4% ขณะที่เจแปน ดิสเพลย์ครองส่วนแบ่ง 18.3% แอลจี ดิสเพลย์ 14.2% ส่วนผู้นำซัมซุงมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 34.7%

ชาร์ปซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2455 ประสบกับปัญหาทางการเงินในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากเกิดความผิดพลาดในการลงทุนในธุรกิจจอภาพคริสตัลเหลว (แอลซีดี) ประกอบกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากคู่แข่งจากไต้หวันและเกาหลีใต้ บริษัทรายงานผลประกอบการขาดทุนสุทธิสูงเป็นประวัติการณ์ในปีงบประมาณ 2555 เป็นมูลค่า 5.45 แสนล้านเยน ตามมาด้วยการขาดทุนอีก 2.223 แสนล้านเยนในปีงบประมาณ 2557 ขณะที่มูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ลดลงจากเกือบ 3 ล้านล้านเยนในปี 2543 เหลือเพียงไม่ถึง 3 แสนล้านเยน

ข้อมูลจากดีลลอจิกระบุว่า ข้อตกลงมูลค่า 6.6 แสนล้านเยน หรือคิดเป็น 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของชาร์ปและฟ็อกซ์คอนน์ คิดเป็นข้อตกลงการควบรวมกิจการของบริษัทญี่ปุ่นโดยบริษัทต่างชาติมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 4 ต่อจากการซื้อกิจการนิกโก้ คอร์เดียล ของซิตีกรุ๊ป เป็นมูลค่า 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 ข้อตกลงมูลค่า 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่างเจเนอรัล อิเล็กทริก และเจแปนลีสซิ่งในปี 2542 และข้อตกลงมูลค่า 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2544 ระหว่างโวดาโฟนและเจแปน เทเลคอม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559