‘4ค่ายMVNO’ ผนึกกำลังตั้ง ชมรม THAILAND MVNO CLUB ลั่น!!‘ไม่ได้บีบหรือต่อรองหน่วยงานรัฐ’

28 ก.พ. 2559 | 12:00 น.
เป็นเพราะปัญหาของ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เสมือน ปัจจุบันมีจำนวน 5 ราย อยู่ภายใต้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท จำนวน 4 ราย คือ บริษัท ไอ-โมบาย พลัส จำกัด ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ I-Mobile 3GX, บริษัท ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการ Myworld3G ,บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด ผู้ให้บริการ 168 และ บริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด และ บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) อีกจำนวน 1 รายที่อยู่บนโครงข่ายของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์ โดยที่ผ่านมาการเจรจาของผู้ประกอบการ MVNO ทั้ง 5 ราย เวลาไปเจรจากับ กสทช.,ทีโอที และ แคท แต่ละรายต่างบริหารจัดการติดต่อประสานกับหน่วยงานรัฐด้วยตัวเองทำให้เกิดปัญหาอุปสรรค และ เพื่อต้องการให้ MVNO แจ้งเกิดเป็นรูปธรรม

นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง "ชมรม THAILAND MVNO CLUB" ขึ้นมาโดยมี นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ทำหน้าที่เป็นประธานชมรม และ ในฐานะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมไปถึง นายนิพนธ์ ชูเชิด กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาต้า ซีดีเอ็มเอ คอมมูนิเคชั่น จำกัด,นายณัฐวุฒิ พานิชชีวะ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท 168 คอมมูนิเคชั่น จำกัด และ ดร.ชัยยศ จิรบวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ ไวท์สเปซ จำกัด และ เลขานุการชมรม THAILAND MVNO CLUB แถลงข่าวถึงที่มาที่ไปของชมรมดังกล่าว

 แรงขับตั้ง"ชมรมTHAILAND MVNO CLUB

วัฒน์ชัย กล่าวว่าบริษัท สามรถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ทำ MVNO มานานตั้งแต่ บมจ.ทีโอที เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ 5 ปีก่อน ประสบปัญหามากมายตอนที่ทำ MVNO ในช่วงที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และ จนได้ใบอนุญาตจาก กสทช. ปัจจุบัน MVNO ทำอยู่ทั่วโลก จึงเกิดการรวมตัวในวันนี้

"ที่ผ่านมา MVNO อยู่ที่ ทีโอที จำนวน 5 ราย ถ้าจำไม่ผิดแต่ตอนนี้เหลือ 1 ราย คือของผม หลังจากนั้นก็ได้ไปยื่นขอทำที่ แคท"

การรวมตัวจัดตั้งชมรม MVNO ครั้งนี้อยากให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะได้เห็นปัญหาต่าง ๆ มากมาย ดังนั้นการรวมตัวครั้งนี้สามารถไปเจรจาร่วมกับ กสทช. เพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ส่วนการทำตลาดของ MVNO แต่ละรายมีกลุ่มตลาดเป็นของตัวเองไม่ทำตลาด Mass Market (มวลชน)อย่างแน่นอน

"การรวมตัวกันก็เพื่อมาแชร์ต้นทุน มาผสมผสานระหว่างกันเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และ เติบโตได้ และ การรวมตัวครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้น ไม่ได้บีบ ต่อรองอำนาจ กสทช. และ แคท เพราะการจัดตั้งชมรมครั้งนี้เพื่อปรึกษาร่วมกันเป็นพันธมิตรอีกด้านหนึ่งก็แข่งขันกัน"

นอกจากนี้แล้วการจัดตั้งชมรม THAILAND MVNO CLUB เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมขึ้นมา พัฒนาโทรคมนาคมไทยให้มีความเข้มแข็งขึ้นชมรมนี้ผู้ให้บริการอยู่ภายใต้เครือข่ายแคท ต่อไปในอนาคตอาจเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านและอาจจะไปเปิด MVNO ในประเทศเมียนมาก็ได้

 ยอมรับขาดทุน 100 ล.

นายวัฒน์ชัย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุนมาตลอดมีลูกค้าหลายแสนรายแต่ปัญหาคือเครือข่ายให้บริการครอบคลุมไม่ทั่วถึง เพราะ ทีโอที มีเพียง 5 พันสถานี จึงได้ไปขอยื่นทำกับ แคท เพราะที่ผ่านมาประสบปัญหามากมายขออนุมัติโปรโมชันจากหน่วยงานรัฐต้องใช้ระยะเวลา เพราะฉะนั้นเมื่อมี 4 รายไปเจรจาร่วมกันกับ กสทช.ทุกอย่างน่าจะคล่องตัวขึ้น

"สิ่งเหล่านี้ทำมา 5-6 ปี ขาดทุน 100 ล้านบาท เพราะการทำธุรกิจต้องลงทุน แต่การทำธุรกิจต้องมีโอกาสให้เช่นเดียวกันเพราะทำธุรกิจไม่ได้ทำเพราะความเท่ เพราะต่อไปธุรกิจทุกอย่างต้องออนไลน์ผ่านมือถือซึ่งตอนนี้เราได้ทำมิเตอร์ไฟฟ้าออนไลน์นับแสนรายแล้ว และเตรียมย้ายลูกค้าไปทำกับ แคท เพราะมีเครือข่ายมากกว่า"

นอกจากนี้แล้วภายในเดือนหน้า ไอ-โมบาย จะเปิดตัวแบรนด์ใหม่และจะเห็นรูปแบบใหม่ของ ไอ-โมบาย เช่นเดียวกัน

 จับตลาดเฉพาะเจาะจง

นายวัฒน์ชัย ยังกล่าวอีกว่า กลุ่มลูกค้ามีหลากหลายแต่ละรายมองแตกต่างกันออกไป อย่างของไอ-โมบาย เน้นเรื่องของการบันเดิล ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ 3 แสนราย และ เดือนเมษายนจะมีการเปิดแบรนด์ "open" ขณะที่ MVNO ที่ทำการตลาดกับ ทีโอที เราก็ยังทำอยู่ยังไม่เลิกทำ เพราะอีกไม่นาน เอไอเอส ก็ได้ทำการตลาดกับ ทีโอที เราก็ขอทำเพิ่มก็ได้

ขณะเดียวกันแนวโน้มของ MVNOในขณะนี้ถือว่าเพิ่งเริ่มต้นต้องประเมินหลังจากนี้ทุกรายเปิดตัวแล้วภายใน 3เดือนเปิดให้บริการแล้วผลตอบรับเป็นอย่างไร เพราะกรรมการ แคท. (ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการของแคท)ก็บอกว่าถ้ามีผู้เล่นรายใหม่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ

จากนั้นนายณัฐวุฒิ ที่ร่วมแถลงว่า ในช่วงต้นเริ่มทำตลาดในเครือบริษัท เช่น เครือประกันภัยและประกันชีวิต (ภายใต้; บมจ.ไทยศรีประกันภัย) ,ธุรกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจรถเช่า เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงและทำให้การบริหารจัดการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเมื่อมีการจัดตั้งเป็นชมรมทำให้มีศักยภาพขึ้นเยอะมาก

เช่นเดียวกับนายนิพนธ์ ที่บอกว่าผมเคยทำงานอยู่กับ แคท มา 20 ปี เครือข่ายของ แคท มั่นใจเพราะมีถึง 14,536 ต้น ไม่เป็นรองใคร ผมเป็นบริษัทเล็กๆ ไม่กล้าที่จะลงทุนเป็น 100 ล้านบาทมาเสี่ยงทำ MVNO เพราะมั่นใจในเครือข่ายของ แคท ที่มีศักยภาพเครือข่ายที่เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคไร้สาย ต่อไปทุกอย่างจะอยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วมีลูกค้าเข้ามาใช้ 1 หมื่นเลขหมาย

"ปัจจุบันเครือข่ายของ แคท ครอบคลุม 97% ของพื้นที่ประชากรทำให้ในปีนี้ตั้งเป้าจะมีลูกค้าถึง 1 ล้านเลขหมาย กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มที่ใช้งานเกี่ยวกับ GPS (Global Positioning System ระบบบอกตำแหน่ง) กล่องวงจรปิด ฉีกแนวการทำตลาดไม่สู้กับเขาหนีเข้าซอยสุด ๆ ไปกับลูกค้าที่ตรงประเด็น"

 อนุมัติแล้ว 2 แสนเลขหมาย

ขณะที่นายนิพนธ์ ระบุว่าปัจจุบันได้เลขหมายจาก กสทช.มาแล้วจำนวน 2 แสนเลขหมายและจะจ่อเพิ่มอีก 8 แสนเลขหมายโดยเลขหมายต่างๆ จะต้องขอตรงจาก กสทช. ความหมายของ MVNO พวกเราคือ "MINI Operator

สอดรับกับดร.ชัยยศ ที่กล่าวยืนยันว่า ได้เลขหมายจาก กสทช.แล้ว 2 แสนเลขหมายและจะเริ่มทำตลาดภายในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 4 รายก็ได้เลขหมายจาก กสทช.ไปแล้ว

 แผนของชมรมหลังจากนี้

ดร.ชัยยศ ยังระบุอีกว่าเตรียมเข้าไปเจรจากับ กสทช.เกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคของ กสทช.ว่ามีอะไรบ้างรวมไปถึงแนวทางในการพัฒนา MVNO เพราะหลายรายประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจ ซึ่งก่อนหน้านี้ กสทช.ได้มีการประชุมกับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 20-30 ราย แต่ในรายชื่อที่ขอไม่อนุญาต บางรายขอไปแล้วแต่ก็ไม่ได้ลงทุนประกอบธุรกิจ

นอกจากนี้เตรียมเจรจากับ กสทช. เกี่ยวกับการแชร์ร่วมกันเพื่อลดต้นทุนทั้งเรื่องระบบงานหลังบ้านรวมไปถึงระบบต่างๆที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ เช่น เรื่องของการจัดซื้อซิมการ์ดที่ผ่านมาต่างฝ่ายต่างสั่งซื้อแต่ถ้ารวมตัวกันจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่า

 จำกัดเฉพาะ 4 รายหรือไม่

ดร.ชัยยศ กล่าวทิ้งท้ายว่า ชมรมนี้เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่และต้องการทำธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม แต่ผู้ที่เข้ามาในชมรมจะต้องไม่ใช่บริษัทลูกของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

 ปัญหาอุปสรรค

ดร.ชัยยศ : ความพร้อมของโครงข่ายในอดีตโครงข่ายของทีโอที ยังไม่มีความพร้อมเท่านี้ นอกจากนี้แล้วนโยบายผลักดัน MVNO ให้เป็นรูปธรรมอย่าง แท้จริงไม่ว่าจะเป็นแคท หรือกสทช. ต้องสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อธุรกิจแต่ปัจจุบันความเข้าใจค่อนข้างจำกัด ซึ่งนโยบายของแคท นั้นพร้อมที่จะผลักดัน MVNO เป็นธุรกิจหลักอีกอันหนึ่ง เนื่องจากในขณะนี้แคทมีความพร้อมสำหรับระบบโครงข่ายเอื้อในการให้บริการทั้งระบบบิลลิ่งก็มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้แล้ว กสทช.ยังกำหนดเงื่อนไขในการประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จีย่านความถี่ 2100 เมกะเฮิรตซ์รวมไปถึง 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.จะต้องนำคลื่นความถี่ในสัดส่วน 10% แบ่งให้กับMVNO หากมีผู้ประกอบการยื่นขอเป็นผู้ให้บริการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559