"เซี่ยงไฮ้ไทยรับเบอร์ฯ" แจงยิบ! แผนลงทุนต่อเนื่อง ยาง 5 แสนล้าน

22 ต.ค. 2561 | 12:16 น.
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อบริษัท "เซี่ยงไฮ้ไทยรับเบอร์ โปรดักส์" ไม่เพียงเป็นที่รู้จักของคนสวนยางเท่านั้น แต่กลายเป็นบริษัทที่คนไทยทั้งประเทศจับจ้องมากที่สุด เพราะเป็นบริษัทที่จะมาขอเช่าสวนยางพาราและลงทุนใหม่บนพื้นที่กว่า 2 หมื่นไร่ จากพื้นที่สวนยาง 4.18 หมื่นไร่ ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ นายยงยุทธ คงสวัสดิ์ กรรมการบริหารของบริษัท ถึงเบื้องลึก เบื้องหน้า เบื้องหลัง และความเป็นไปได้ของโครงการลงทุน

ยงยุทธ์1

ยันเป็นบริษัทคนไทย
นายยงยุทธ กล่าวว่า บริษัทเป็นบริษัทคนไทยที่ร่วมกับนักธุรกิจจีนและ "สหกรณ์เซี่ยงไฮ้" หรือ "เซียงไฮ้ อิคอนิมิค" ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐวิสาหกิจจีนที่มาร่วมถือหุ้นประมาณ 21% เท่านั้น ดังนั้น บริษัทจึงเป็นนิติบุคคลที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ โดยจะนำเงินลงทุนของจีนมาทำธุรกิจเกี่ยวกับนวัตกรรมยางพารา เพราะในนํ้ายางมีสารเซรุ่มที่สามารถสกัดเป็นยารักษาโรคมะเร็ง โดยนำผลงานวิจัยของ รศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) มาพัฒนาเข้าสู่ระบบการตลาด และการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายต่อไป ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่สวนยางจำนวนมาก และต้องเป็นยางที่มีอายุมากไม่ตํ่ากว่า 40-50 ปี ดังนั้น พื้นที่สวนยางแปลง ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ถือมีความเหมาะสมมาก เพราะเป็นยางที่อายุมากที่สุดในประเทศไทย บริษัทจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งวัตถุดิบ

"ยางพาราที่จะทำเป็นยารักษาโรค จะต้องเป็นนํ้ายางพาราที่ปราศจากสารเคมี จะพักการกรีดยาง และไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในสวนยางแปลงนี้ เป็นระยะเวลา 3 ปี แล้วจะฟื้นฟูโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจะได้นํ้ายางที่มีความบริสุทธิ์สูง ที่จะมาผลิตเกี่ยวกับเรื่องเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ทางบริษัทต้องการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า แหล่งที่มาของวัตถุดิบเป็นแหล่งที่บริสุทธิ์จริง ๆ ถึงจะคุ้มกับการลงทุน อีกด้านหนึ่งก็ได้ประสานกับเภสัชกรของทางรัฐบาลจีน แล้วก็มีความสนใจที่จะมาลงทุนร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขข้อแม้ว่า จะต้องมาลงทุนที่ประเทศไทย ต้องมาใช้วัตถุดิบไทย เพราะเป็นเทคโนโลยีของคนไทย"

สำหรับข้อเสนอผ่าน นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.เสนอเช่าสถานที่ และ 2.ลงทุนร่วมกัน หมายความถึง ทางบริษัทจะร่วมลงทุน หรือ ปรับปรุง หรือ เสริมพืชหลัก พืชรอง เพื่อหารายได้เสริม ทาง กยท. ก็ลงทุน โดยใช้บุคลากรและต้นยางพารา ทางบริษัทจะรับซื้อนํ้ายางในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด 20-30 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะช่วยยกระดับราคายางชนิดอื่น ๆ ในประเทศให้สูงขึ้นด้วย และจะทำให้ กยท. มีอาวุธในมือ ว่า สามารถชี้นำตลาดได้ ยกตัวอย่าง ตลาดยางทั่วไปราคา 50 บาทต่อกิโลกรัม ทาง กยท. ประกาศได้เลยว่า ที่กรุงหยัน วันนี้อยู่ที่ราคา 70-75 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งจะเป็นการชี้นำตลาด จะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน มองว่าชาวสวนยางจะได้ประโยชน์ เพราะจะช่วยยกระดับราคายางทั้งประเทศ


พร้อมทุ่มลงทุน 5 แสนล้าน
นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่ข้างต้น บริษัทจะนำที่ดิน 4,400 ไร่ ซึ่งครอบคลุมโรงงาน นํ้ายางข้น และโรงเลื่อยไม้ยางพารา ของ กยท. พร้อมที่ดินจำนวน 36 ไร่ ซึ่งอยู่ระหว่างโรงงานนํ้ายางข้นกับโรงเลื่อยไม้ยางพารา มาก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 10 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โรงงาน จะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบการผลิต ซึ่งเป็นการส่งเสริมและการตลาด และต่อยอดนวัตกรรมของคนไทย พร้อมทั้งสร้างโรงงานเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง และโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5 แสนล้านบาท

"รายได้จากการขายไฟฟ้า 3 โรงงาน ขนาดโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ ราคาขายต่อหน่วย 2.54 บาท กำลังการผลิตได้ชั่วโมงละ 29,700 หน่วย วันละ 24 ชั่วโมง จะมีรายได้วันละ 1,207,008 บาท จะมอบรายได้จัดสรรให้หน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้ 10% มอบให้ กยท. 10% มอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อศูนย์พันธุ์พืช 10% มอบให้บริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและส่งเสริมการท่องเที่ยว อ.ทุ่งยั้ง 10% มอบให้สวัสดิการพนักงานการยางกรุงหยัน และ 10% มอบให้กองทุนสวนยาง"

อย่างไรก็ดี จากการที่ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าฯ กยท. ประกาศออกมาแล้วว่า จะไม่ให้เอกชนเช่าพื้นที่ ไม่หนักใจ แต่เพื่อผลประโยชน์ของชาวสวนยางและ กยท. ตนคิดว่า สามารถที่จะทำงานร่วมกันได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเช่าที่ แต่ทำงานร่วมกันได้ เพราะบริษัทต้องการต้นยางและศักยภาพของพนักงานของ กยท. ที่มีประสิทธิภาพและทักษะ ตรงนี้เป็นแรงจูงใจที่จะสามารถร่วมงานในอนาคตกันได้ ซึ่งหากมีความร่วมมือกัน ต่อไป ต.กรุงหยัน จะเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็น ต.เภสัชกร เพราะโรงงานต้องใช้เภสัชกรและบุคลากรจำนวนมาก


เคลียร์ปม 2 ปี รายได้หาย
นายยงยุทธ กล่าวถึง ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทไม่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจ เนื่องจากบริษัทแปรสภาพธุรกิจจากโรงพยาบาล เปลี่ยนวัตถุประสงค์มาทำโครงการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืน ยังไม่เคยประกอบการธุรกิจมาก่อน เป็นการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ เหมือนกับจดบริษัทใหม่ แต่ไม่มีหนี้สิน ซึ่ง "เซี่ยงไฮ้ ไทยรับเบอร์โปรดักส์" เป็นบริษัทรับบริหารจัดการโครงการเม็ดเงินการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจของจีน

"ที่ผ่านมา ติดต่อประสานงานกับ กยท. มาเป็นระยะเวลา 7 เดือนแล้ว ยังไม่เคยมีคำตอบเลย จึงไปเริ่มทำโรงงานแปรรูปยางพาราและโรงไฟฟ้าที่นิคมอุตสาหกรรมรับเบอร์ซิตี้ที่สงขลา มูลค่าลงทุน 3 พันล้านหยวน จะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า ซึ่งในวันลงนามในสัญญาความร่วมมือกับฝ่ายจีน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นสักขีพยาน วันนั้นจึงได้ส่งเรื่องให้กับท่านโดยตรง จึงกลายเป็นเรื่องขึ้นมา เพราะมีผู้ไม่ประสงค์ดีบิดเบือนข้อมูล กลายเป็นข่าวขึ้นมาอย่างที่ปรากฏ อยากจะฝากถึงผู้บริหารของ กยท. ว่า หากได้ทำบันทึกความร่วมมือกับโครงการพัฒนายางพาราอย่างยั่งยืนของบริษัท ก็จะสามารถร่วมงานได้ทันที ผู้ที่จะลงทุนก็พร้อมเช่นเดียวกัน"


หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,411 วันที่ 21-24 ตุลาคม 2561

บาร์ไลน์ฐาน