แก้กฎหมายภาษี! โอนเงินเกินปีละ 3 พันครั้ง ต้องรายงาน "สรรพากร"

19 ต.ค. 2561 | 09:48 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติวาระที่ 1 รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 172 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมกันนี้ได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 21 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 15 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน

การเลือกตั้ง (รัฐสภา)

วัตถุประสงค์ของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรฉบับนี้ เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) โดยสาระสำคัญการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรครั้งนี้ คือ

1.กำหนดให้ผู้มีหน้าที่ส่งภาษีอาจเลือกวิธีนำส่งเงินภาษีให้กรมสรรพากรด้วยวิธิการอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวงได้ เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการนำส่งภาษี และลดขั้นตอนการดำเนินการ อันจะส่งผลให้ลดต้นทุนการประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน

2.กำหนดเรื่องการยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรและการจัดทำเอกสารตามประมวลรัษฎากร โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นวิธีการทั่วไปในประมวลรัษฎากร เพื่อให้อธิบดีสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากรได้โดยตรง

3.กำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท นำส่งข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษที่อยู่ในครองครองให้กรมสรรพากรภายในเดือน มี.ค. ของทุกปี โดยธุรกรรมที่มีลักษณะพิเศษครอบคลุมของธุรกรรมในปีที่ผ่านมา ที่มีลักษณะเป็นการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือ การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมของธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อกรมสรรพากรในการดำเนินการจัดเก็บภาษี

ทั้งนี้ ยังมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ไม่นำส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน หรือข้อมูลอื่นใดตามที่กำหนดในร่างแก้ไขฯ กำหนดเป็นโทษทางปกครองและโทษปรับรายงานตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฎิบัติให้ถูกต้อง

เนื่องจากตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้่นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ได้กำหนดให้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งรวมถึงการรับชำระภาษี ประกอบกับลักษณะการทำธุรกรรมของภาคเอกชนปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้การตรวจสอบและติดตามข้อมูลเพื่อการจัดเก็บภาษีอากรในปัจจุบันไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากร และเพื่อให้กรมสรรพากรได้รับข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร สมควรปรับปรุงวิธีการนำส่งเงินภาษีอากรบางประเภท และการยื่นรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการอื่นเพิมเติมจากที่กำหนดในประมวลรัษฎากรได้ พร้อมทั้งกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์มีหน้าที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีธุรกรรมลักษณะพิเศษให้กรมสรรพากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร และปรับปรุงอัตราโทษสำหรับรณีเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลของผู้เสียภาษีและบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรดังกล่าว


e-book-1-503x62