'เอพี' รับลูก ธปท. !! ห่วงเล่นนอกกรอบ

10 ต.ค. 2561 | 05:55 น.
'เอพี' รับในฐานะรายใหญ่ ทำตลาดร้อนแรง เห็นด้วยแบงก์ชาติออกกฎเกณฑ์ใหม่ สกัดกลุ่มเล่นนอกกรอบ คล้ายวิกฤติปี 2540 ห่วงให้วงเงินเกินแอลทีวี รูปแบบสินเชื่อบุคคล กลายเป็นเงินทอน ขณะที่ มาตรการใหม่ บริษัทฯ รับมือได้ รอลุ้น 11 ต.ค.


 

[caption id="attachment_332856" align="aligncenter" width="317"] วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย กล่าวถึงกรณีล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการคุมการปล่อยสินเชื่อบ้านหลังที่ 2 ควบคุมสัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (แอลทีวี) ที่ 80% โดยให้วางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% เริ่มช่วงเดือน ม.ค. 2562 เพื่อหวังให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หลังจากกังวลการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือนและเอื้อต่อการเก็งกำไร ว่า ในฐานะเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาด เห็นด้วยกับท่าทีดังกล่าวของ ธปท. เพราะเชื่อว่า คงมีข้อมูลบางประการที่ผู้ประกอบการเองอาจยังมองไม่เห็น โดยเฉพาะในลักษณะการซื้อ-ขาย ที่มีบางกลุ่มเริ่มกระทำการนอกกรอบ เช่นเดียวกับครั้งที่เกิดวิกฤติ ปี 2540 ซึ่งกฎเกณ์ที่เข้มข้นขึ้นก็ถือเป็นการป้องปราม ทำให้ตลาดเติบโตอยู่ในกรอบและยั่งยืน ลดความร้อนแรงของอุตสาหกรรมลงได้ หลังจากหลายฝ่ายเริ่มมองว่า มีปัญหาดีมานด์เทียม หรือ ฟองสบู่ เกิดขึ้น คล้ายเป็นการเติบโตที่ผิดปกติ

ส่วนในแง่ผู้ประกอบการนั้น ยอมรับว่า มีผลกระทบบ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มคอนโดฯ ที่กลุ่มผู้ประกอบการเริ่มมีการพูดคุยกันบ้างแล้ว แต่น่าจะมีความชัดเจนขึ้น หลังการหารือร่วม ธปท. และตัวแทนผู้ประกอบการในวันที่ 11 ต.ค. นี้ โดยเบื้องต้น การช่วยเหลือลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น กรณีซื้อหลังที่ 2, 3 หรือ 4 เชื่อว่ายังจะสามารถบริหารรูปแบบได้และสถาบันการเงินคงมีแนวทางในการช่วยเหลือ ขณะที่ ลูกค้าเอง ยังไม่พบมีการส่งสัญญาณความกังวลใด ๆ ออกมา ส่วนช่วงเวลาที่เหลือ 3 เดือน ก่อนที่สถาบันการเงินจะเริ่มใช้กฎเกณฑ์ใหม่นั้น จะถือเป็นจังหวะโอกาสให้ตลาดเร่งขายและโอน เพื่อระบายสต๊อกของแต่ละบริษัทหรือไม่นั้น อาจมีความเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมส่งผลต่อแผนดำเนินการของบริษัทในปีถัด ๆ ไป

"จะบอกว่า ไม่มีผลกระทบเลยก็คงไม่ถูก มีบ้าง แต่คงน้อย เพราะเดิมทีให้ลูกค้าดาวน์ 15-20% อยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ใหม่ ที่กำหนดแอลทีวี 80% ครอบคลุมทุกระดับราคา แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงและคิดต่อ คือ การซื้อในลักษณะพ่วงขายประกันโดยแบงก์ การกู้ขอวงเงินเพิ่มเพื่อตกแต่ง เลวร้ายหน่อยก็ให้ส่วนเกินในนามสินเชื่อส่วนบุคคล หรือที่เรียกกันว่า เงินทอน"

นายวิทการ ยอมรับว่า ในฐานกลุ่มลูกค้าคอนโดฯ ของบริษัท มีกลุ่มนักลงทุนประมาณ 30% ซึ่งในสัดส่วนดังกล่าว มีกลุ่มเก็งกำไรแฝงอยู่จริง แต่บริษัทมีแนวทางรองรับ กรณีรายใดขาดการผ่อนเงินดาวน์เกิน 3 งวด ก็จะมีบริษัทลูก ซึ่งทำหน้าที่เป็นเอเยนซีคอยรับช่วง นำไปขายต่อยังผู้ที่ต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดความร้อนแรงของตลาดลงได้ ในกรณีที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และมียอดขายจำนวนมาก ส่วนยอดปฏิเสธการกู้ (รีเจกต์) ปัจจุบัน บริษัทมีตัวเลขอยู่ที่ 12-15% โดยเฉพาะในกลุ่มระดับล่าง ราคา 2 ล้านบาท แต่มีสัดส่วนลูกค้าดี กลุ่มบน ที่เป็นตัวปรับสมดุล ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

ทั้งนี้ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) เพิ่งเปิดตัวโครงการบ้านเดี่ยวซูเปอร์ลักชัวรี (พาลาซโซ่ ศรีนครินทร์) มูลค่า 1.75 พันล้านบาท จำนวน 52 หน่วย ในราคา 29-60 ล้านบาท โดยถือเป็นการตอบรับดีมานด์ระดับบน ที่มีสัญญาณตอบรับจากตลาดดีที่สุดในปีนี้ พร้อมเผยว่า 9 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทสามารถทำยอดรวมได้แล้วกว่า 3.07 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากการเปิดตัวโครงการคอนโดฯ และแนวราบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ไตรมาสสุดท้าย เตรียมเปิดตัวอีก 18 โครงการ มูลค่ากว่า 3.12 หมื่นล้านบาท เพื่อผลักดันให้เป็นไปตามเป้ายอดขายที่ 3.98 หมื่นล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,408 วันที่ 11 - 13 ต.ค. 2561 หน้า 29-30

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'เอพี' ผุดบ้านผู้สูงวัย
เอพีอะคาเดมี่เดินหน้า

เพิ่มเพื่อน โปรโมทแทรกอีบุ๊ก