โอนเงินบล็อกเชนพุ่ง! SCB-BAY เล็งขยายประเทศคู่ค้า เพิ่มธุรกรรม

15 ต.ค. 2561 | 02:00 น.
แบงก์จ่อขยายสกุลเงิน-ประเทศคู่ค้าเพิ่ม หนุนธุรกรรมโอนเงินข้ามประเทศผ่านบล็อกเชน ... "ไทยพาณิชย์" เล็งโอนเงิน B2B ขาออก ประเดิมดอลลาร์สหรัฐฯ-ดอลลาร์สิงคโปร์ ... "กรุงศรี" ไม่น้อยหน้า ดอดคุยสถาบันการเงิน-บริษัทขนาดใหญ่ 2-3 ราย หลังธุรกรรมทดสอบ 9 เดือน แตะ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ชี้! ประหยัดต้นทุน 50%

นางภิมลภา สันติโชค รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Commercial Banking Solutions ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า ธนาคารมีแผนขยายสกุลเงินโอนเงินข้ามประเทศผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนในส่วนของภาคธุรกิจและธุรกิจ (B2B) โดยจะเริ่มในส่วนของขาออกนอกประเทศใน 2 สกุลหลัก คือ สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงินคู่ค้า เนื่องจากเป็นการโอนเงินขาออก จึงต้องพูดคุยกับสถาบันการเงินที่จะรองรับธุรกรรม โดยยังร่วมกับ Ripple เหมือนเดิม

 

[caption id="attachment_332261" align="aligncenter" width="336"] ภิมลภา สันติโชค ภิมลภา สันติโชค[/caption]

ขณะที่ การโอนเงินข้ามประเทศในส่วนของรายย่อย ปัจจุบัน อยู่ระหว่างทดสอบในศูนย์วัฒนธรรมทางการเงิน (Sandbox) โดยเริ่มต้นให้บริการโอนเงินลูกค้าบุคคลทั่วไปจากต้นทางประเทศญี่ปุ่น จากสกุลเงินเยน (JPY) มายังปลายทางบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเทศไทย ในสกุลเงินบาท (THB) ผ่านช่องทางสาขาและตู้เอทีเอ็มของ SBI Remit และที่ทำการไปรษณีย์ ประเทศญี่ปุ่น มายังบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์โดยตรง ซึ่งหลังจากทดสอบตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณธุรกรรมในส่วนของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า โดยมียอดธุรกรรมเฉลี่ย 900-1,000 รายการต่อเดือน ถือว่าได้ผลตอบรับค่อนข้างดี ดังนั้น จากแนวโน้มธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการขยายสกุลเงินเพิ่มเติม โดยจะเน้นสกุลเงินหลัก ๆ เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ ดอลลาร์สิงคโปร์ และอีกหลายสกุลเงิน รวมถึงมีแผนขยายธุรกรรมในส่วนของการโอนเงินขาออกนอกประเทศด้วย จากเดิมจะเป็นขาโอนเข้าอย่างเดียว คาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะมีความชัดเจน

"เรามีแผนจะขยายสกุลเงินการโอนเงินข้ามประเทศผ่านบล็อกเชน โดยในส่วนรายย่อยจะเพิ่มขาโอนออกด้วย จากเดิมโอนเข้าอย่างเดียว และทำได้เพียงสกุลเงินเยน-ญี่ปุ่นเท่านั้น และในส่วนภาคธุรกิจรายใหญ่กำลังร่วมกับ Ripple โดยจะเริ่มจากฝั่งขาออกก่อน และเริ่มจาก 2 สกุล คือ ดอลลาร์สหรัฐฯ และดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งกำลังพูดคุยกับธนาคารคู่ค้า สิ้นปีน่าจะได้เห็นในส่วนของรายย่อยและภาคธุรกิจ"

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านกรุงศรีคอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิตอลแบงกิ้งและนวัตกรรม บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารกำลังพูดคุยกับสถาบันการเงินต่างประเทศ 2-3 ราย และบริษัทขาดใหญ่ที่มีธุรกรรมต่างประเทศอีก 2-3 ราย เพื่อขยายความร่วมมือให้บริการโอนเงินแบบเรียลไทม์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการภายใต้ Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คาดว่า ในเร็ว ๆ นี้ น่าจะออกจาก Sandbox ได้


MP24-3409-A

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ระบบการโอนเงินข้ามประเทศผ่านบล็อกเชน สามารถทำได้ 2 ประเทศ คือ สปป.ลาว และสิงคโปร์ ส่วนญี่ปุ่นยังทำได้เป็นบางรายการ เนื่องจากยังติดหลักเกณฑ์การกำกับของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) บางอย่าง โดยปริมาณธุรกรรมโอนเงินข้ามประเทศช่วงที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 1-2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะว่ายังอยู่ในการทดสอบ ซึ่งจะมีการจำกัดวงเงินและธุรกรรม เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การทดสอบของ ธปท. เช่น สปป.ลาว จะโอนเงินได้ราว 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อราย

ส่วนจะขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับสถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่นั้น ปัจจุบัน อยู่ระหว่างพูดคุยและคาดว่า น่าจะใช้เวลาอีกสักระยะ เนื่องจากทุกประเทศที่ธนาคารจะขยายบริการเข้าไปจะต้องมีการลงระบบ Ripple ทั้งในส่วนของสถาบันการเงินและบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้ ซึ่งระบบการโอนเงินข้ามประเทศผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนนี้ จะช่วยลดตัวกลางเพิ่มความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ลูกค้าจะประหยัดต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ลดลงเกือบ 50% หรือกว่าครึ่งจากค่าธรรมเนียมปกติที่เคยเสียในอดีต จากหลักพันบาทหรือหลักร้อยบาทเท่านั้น

"ตอนนี้เรายังทำเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ เป็นแบบ B2B อยู่ เพราะยังทดสอบในแซนด์บ็อกซ์ แต่จะขยายเพิ่มเติมอีก 2-3 ราย อยู่ระหว่างพูดคุย ส่วนธุรกรรมที่ผ่านมา ถือว่าค่อนข้างดีตามกรอบทดสอบ เพราะเทคโนโลยีตัดตัวกลางออกไปต้นทุนถูกลง ซึ่งยังไม่ได้ทำ B2C แต่ก็มีการศึกษาอยู่ ซึ่งไม่น่าจะเร็ว ๆ นี้"

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธุรกรรมการโอนเงินข้ามประเทศผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนของ 2 ธนาคาร ยังคงทดสอบอยู่ในแซนด์บ็อกซ์ ส่วนจะขยายไปสกุลเงินอื่น ๆ ธนาคารสามารถทำได้ แต่อาจต้องรายงานมายัง ธปท. ว่าจะทำอะไร หรือจะขยายไปสกุลอะไรบ้าง เป็นการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น ส่วนจะออกจากแซนด์บ็อกซ์เมื่อไรนั้น ยังไม่สามารถตอบได้


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,409 วันที่ 14 - 17 ต.ค. 2561 หน้า 24+23

e-book-1-503x62-7