กรีนไอเดีย | 'กรีนพีซ' ตรวจสอบแบรนด์สินค้าในขยะพลาสติก ท็อป 5 แบรนด์ไทย-เทศ ติดอันดับ

17 ต.ค. 2561 | 05:25 น.
"กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" เปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) ที่เก็บได้จากบริเวณชายหาดวอนนภา จ.ชลบุรี เมื่อเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่า สินค้าขยะจากพลาสติกที่พบมากที่สุดสำหรับผู้ผลิตแบรนด์ข้ามชาติ 5 อันดับแรก คือ โคคา-โคลา, เป๊ปซี่โค, ยาคูลท์, ยูนิลีเวอร์ และเนสท์เล่ ผู้ผลิตแบรนด์ในประเทศ 5 อันดับแรกที่พบจำนวนขยะพลาสติกมากที่สุด คือ ดัชมิลล์, ซีพี กรุ๊ป, โอสถสภา, บริษัท เสริมสุข จำกัด และเครือสหพัฒน์

GP0STSFNS

การตรวจสอบแบรนด์ (Brand Audit) ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่ (Clean up) โดยแนวร่วม Break Free From Plastic ที่เกิดขึ้น 239 จุด ใน 42 ประเทศ ครอบคลุม 6 ทวีป มีอาสาสมัครราว 10,000 คน เข้าร่วม และเก็บขยะพลาสติกรวมกันทั้งหมด 187,851 ชิ้น เพื่อระบุแบรนด์สินค้าจำนวนนับพันที่พึ่งพาพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งกลายเป็นมลพิษพลาสติกที่ปนเปื้อนในทะเล มหาสมุทร และแหล่งนํ้าต่าง ๆ ทั่วโลก

ในประเทศไทย ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2561 ที่บริเวณหาดวอนนภา จ.ชลบุรี โดยมีอาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรม 50 คน เก็บรวบรวมขยะพลาสติก 2,781 ชิ้น ตรวจสอบพบเป็นแบรนด์จากผู้ผลิตข้ามชาติ (Foreign Brand) 817 ชิ้น แบรนด์ของผู้ผลิตในประเทศ (Local Brand) 1,606 ชิ้น และส่วนที่ไม่สามารถระบุที่มาของผู้ผลิต 358 ชิ้น โดยขยะพลาสติก 91% เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร (Food Packaging)

"ธารา บัวคำศรี" ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรีนพีซได้เรียกร้องให้ภาคการผลิตสินค้า Fast Moving Consumer Goods (FMCG) และบริษัทต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติ 4 ประการ คือ 1.เปิดเผยข้อมูล "Plastic Footprint" ปริมาณพลาสติกที่บริษัทใช้ในห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง ภายในช่วงเวลา 12 เดือน ที่มีการระบุไว้ โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ 2.มุ่งมั่นที่จะลดพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละปี 3.ขจัดพลาสติกใช้
ครั้งเดียวทิ้งที่เป็นปัญหาและไม่จำเป็นมากที่สุด ภายในปี 2562 และ 4.ลงทุนกับระบบนำกลับมาใช้ซํ้าและระบบกระจายสินค้าแบบใหม่


GP0STSFN4

บริษัทข้ามชาติที่กรีนพีซกล่าวถึง ได้มีแถลงการณ์เกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกที่กรีนพีซระบุ โดย "บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด" ประกาศว่า ยึดมั่นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้น้อยที่สุด รวมทั้งมุ่งหาทางจัดการและกำจัดบรรจุภัณฑ์อย่างถูกวิธี หรือ นำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ด้วยวิสัยทัศน์ในการมุ่งจัดการให้บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด รวมทั้งพลาสติก ไม่ถูกทิ้งในแหล่งฝังกลบ หรือ กลายเป็นขยะในแหล่งต่าง ๆ รวมทั้งทะเล มหาสมุทร และลำนํ้าต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าว บริษัทได้ตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ รีไซเคิลได้ทั้งหมด 100% ภายในปี 2568

"บริษัท เป๊ปซี่-โคลา (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด" ในเครือเป๊ปซี่โค ชี้แจงว่า คำนึงถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับขยะพลาสติก ตลอดจนขยะประเภทอื่น ๆ ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ทั้งบนบกและในทะเล ทั้งนี้ ภายใต้นโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า "Performance With Purpose" บริษัทจึงได้ประกาศเป้าหมายในด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยตั้งเป้าที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือ นำไปย่อยสลายได้ทั้งหมด 100% ภายในปี 2568

การปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม (Protecting the Planet) ถือเป็นหนึ่งในเสาหลักการดำเนินธุรกิจของบริษัทเป๊ปซี่โค โดยบริษัทตระหนักว่า พลาสติกและขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับความสนใจและการจัดการอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ริเริ่มโครงการรณรงค์และกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อส่งเสริมให้อัตราการรีไซเคิลเพิ่มสูงขึ้น และลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ให้น้อยลง ในขณะเดียวกัน บริษัทได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและมีการลงทุนเพื่อนำนวัตกรรมในด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนมาใช้ในกระบวนการทางธุรกิจ

สำหรับในประเทศไทย นอกจากการออกแบบและใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ อย่าง ขวด PET ควบคู่ไปกับการลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ แล้ว บริษัทยังได้ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท คัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ จํากัด ผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจด้านการบริหารจัดการขยะรีไซเคิล นับตั้งแต่ปี 2556 เพื่อส่งเสริมการคัดแยกและนำขวดพีอีที (PET) ใช้แล้วเข้าสู่วงจรรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ ภายใต้แนวคิด P.E.T. ซึ่งประกอบด้วย "Promotion" คือ การใช้กลไกด้านราคา เพื่อจูงใจให้กลุ่มเป้าหมายนำขวด PET ที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล "Education" คือ การให้ความรู้ร้านค้าและผู้บริโภคเกี่ยวกับมูลค่าและประโยชน์ของการรีไซเคิลขวด PET และ "Training" คือ การจัดอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านการรีไซเคิลกับผู้ประกอบการในธุรกิจรีไซเคิลและประชาชนทั่วไป


GP0STSFMS

ด้าน บริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด ล่าสุด ได้ประกาศวิสัยทัศน์ "World Without Waste" นอกจากแผนงานปฏิบัติภายในองค์กร บริษัทยังได้ร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัทปิโตรเคมีผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ให้กับ โคคา-โคลา เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการนำขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มที่ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ Recycled PET (rPET) มาใช้ เพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic) และขณะนี้ยังพยายามผลักดันให้มีการปลดล็อกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก

ประเทศไทยใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งกันอย่างแพร่หลาย โดยคนไทยใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งถึง 70,000 ล้านถุงต่อปี ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเอเชีย (จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และศรีลังกา) ที่สร้างขยะพลาสติกในทะเลถึง 60% ของขยะพลาสติกที่ถูกปล่อยลงทะเลทั่วโลก ในปี 2559 ปริมาณขยะทั้งหมดที่ไม่มีการจัดเก็บหรือกำจัดอย่างเหมาะสม มีประมาณ 2.83 ล้านตัน แยกเป็นขยะพลาสติก 12% โดยที่ขยะพลาสติกเหล่านี้ไม่มีการจัดการ 15% หรือ 51,000 ตันต่อปี มีปลายทางอยู่ที่ทะเล


หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,410 ระหว่างวันที่ 14-17 ตุลาคม 2561

595959859