เบเกอรี่ "Boom’s Bakes" สุดฮอต! ทุนจีนขอร่วมธุรกิจ เล็งขยายสาขา 11 แห่ง

18 ต.ค. 2561 | 02:32 น.
TO__9055
"กิตตน์" กรรมการบริหาร บริษัท บูมเจษฐ์ 24 จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจดังกล่าวมาจากการที่คุณพ่อของเจตน์และคุณแม่ของตนมีความสนิทมักคุ้นกันมาเนิ่นนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เคยขายของอยู่ที่ตลาดเดียวกัน แม้ว่าแม่ของตนจะไม่ได้ขายของที่ตลาดแล้วก็ตาม แต่ว่าบ้านพักอาศัยก็ยังอยู่ในละแวกของตลาด วันหนึ่งเมื่อเจตน์ใกล้ที่จะสำเร็จการศึกษา คุณพ่อของเจตน์ได้เรียกทั้ง 2 คน เข้ามาหารือร่วมกัน เพราะคุณพ่อของเจตน์มีความมุ่งหวังที่ต้องการให้น้องมีธุรกิจเป็นของตนเอง

ทั้งนี้ โดยการมอบองค์ความรู้ทางด้านการทำเบเกอรี่ ซึ่งคุณพ่อของเจตน์ยึดเป็นอาชีพมามากกว่า 25 ปีให้ เพื่อแตกไลน์ใหม่เกี่ยวกับขนมปัง ทั้งที่ในตอนแรก ตนเองก็ไม่ได้มีความคิดที่จะต้องมีธุรกิจเป็นของตนเอง เพราะช่วงเวลานั้นก็ได้มีงานแสดงละครในบทพระเอกแล้ว แต่เมื่อได้มานั่งหารือร่วมกัน ความรู้สึกที่ถูกชะตา และแนวคิดในการทำธุรกิจซึ่งไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่ได้เน้นว่าจะต้องทำให้รวย หรือ มองเพียงแต่เรื่องของธุรกิจอย่างเดียว แต่มองที่เรื่องของคุณภาพมากกว่า เน้นความอร่อย แต่ราคาต้องไม่แพง จึงตัดสินใจที่จะทำธุรกิจร่วมกัน โดยเริ่มต้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

สำหรับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์ "Boom’s Bakes" นั้น อยู่ที่ความคุ้มค่าเรื่องราคากับปริมาณที่ผู้บริโภคจะได้รับ ส่วนวัตถุดิบที่ใช้ก็จะเป็นของที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง เนื่องจากคุณพ่อของเจตน์มีธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายอุปกรณ์ในการทำเบเกอรี่ด้วย จึงทำให้สามารถควบคุมราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาเพียง 24 บาทต่อชิ้นเท่านั้น แม้ว่าช่องว่างระหว่างต้นทุนกับราคาขายของแบรนด์จะไม่มาก แต่เราพยายามเน้นที่ปริมาณการจำหน่าย ซึ่งจะแปรเปลี่ยนมาเป็นผลกำไรมากกว่า

"เสียงตอบรับจากผู้บริโภค ก็คือ เมื่อซื้อขนมปังจากที่ร้านไปแล้ว นำไปแช่ตู้เย็นไว้ 3-4 วัน เมื่อนำออกมาอุ่น ขนมปังก็นุ่มและมีรสชาติเหมือนเพิ่งซื้อมา"


เล็งตลาดจีนเพิ่มเป็น 11 สาขา
"เจตน์" ในฐานะกรรมการบริหารอีกคนหนึ่ง กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ร้าน "Boom’s Bakes" มีเปิดให้บริการอยู่ทั้งหมด 3 สาขาในประเทศไทย ประกอบด้วย ที่ตลาดมีนบุรี 2 สาขา และที่ตลาดบางกะปิอีก 1 สาขา ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายหลัก พร้อมกันนี้ยังมีช่องทางด้านออนไลน์ ซึ่งจะเน้นการบริการจัดทำเป็นสแน็กบ็อกซ์ (Snack Box) เพื่อนำไปเป็นของว่างระหว่างการประชุมสัมมนาของบริษัทต่าง ๆ ที่มีการสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการแนะนำกันแบบปากต่อปาก แม้ว่าในระยะแรก การประชาสัมพันธ์จะนำข้อได้เปรียบในการเป็นดาราของกิตตน์มาเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้า ซึ่งก็ยอมรับว่า ได้ผลที่ดีเพียงในระยะแรก หลังจากนั้นผู้ที่กลับมาซื้อ จะมาเพราะรสชาติและคุณภาพของขนมมากกว่า


TO__9040 TO__9048

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ตนมักจะนำขนมของที่ร้านติดตัวเดินทางไปไหนมาไหนด้วยทุกครั้ง ส่งผลให้แบรนด์ได้เปิดโอกาสทางธุรกิจในประเทศจีนอย่างไม่คาดฝัน แม้ว่างานที่ไปจะเกี่ยวกับเครื่องสำอางก็ตาม โดยตนได้นำขนมปังของทางร้านที่ติดตัวไปให้กับนักธุรกิจของจีนได้ลิ้มลองรสชาติ ปรากฏว่า ได้รับความชื่นชอบเป็นอย่างมาก จนถึงขนาดขอร่วมลงทุนเป็นพาร์ตเนอร์ เพื่อเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ "Boom’s Bakes" ที่ประเทศจีน โดยล่าสุด มีเปิดให้บริการแล้ว 2 สาขา ที่เมืองหนานจิง (Nanjing)

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเปิดร้านให้บริการอีก 5 สาขา ในเมืองหนานจิง และจะเปิดอีก 4 สาขา ทางภาคเหนือของจีน ภายในปีนี้รวมเป็น 11 สาขา โดยกลยุทธ์ ก็คือ เปิดในเมืองที่มีขนาดเล็กก่อน เพื่อสร้างการรับรู้และวางรากฐานของแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงก่อน หลังจากนั้น จึงกระจายไปเปิดยังเมืองอื่น หากเป็นไปตามแผน หรือ ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ก็จะขยายสาขาไปเปิดที่เซี่ยงไฮ้ เรียกว่า เป็นการเปิดตลาดที่เมืองรองก่อนบุกเมืองใหญ่ ไม่เช่นนั้นแบรนด์อาจจะโดนคู่แข่งบดบังจนธุรกิจไปไม่รอดได้


ลุยตลาดไทยปีหน้า
"เจตน์" บอกต่อไปอีกว่า การลงทุนในประเทศจีนเป็นการร่วมทุนในลักษณะที่นักธุรกิจชาวจีนเป็นผู้ออกทุนในการเปิดร้าน ส่วนแบรนด์จะร่วมทุนด้วยการนำองค์ความรู้ทางด้านการทำเบเกอรี่ไปเป็นหุ้นส่วน แม้ว่าอาจจะดูเสี่ยงอยู่บ้าง แต่หากไม่ทดลองเสี่ยง โอกาสที่เปิดรออยู่อาจจะปิดลงไปโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย


TO__9032

"กิตตน์" บอกว่า ผู้บริโภคชาวจีนนิยมและให้ความไว้วางใจในเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยมาก โดยรสชาติที่นำไปจำหน่าย จะเป็นรสชาติที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เช่น ชาไทย, ทุเรียน, ต้มยำกุ้ง, ฝอยทอง และกะเพราไก่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แบรนด์เองก็ต้องมีการปรับรสชาติให้เหมาะสมกับผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งรับประทานหวานน้อยกว่าประเทศไทยด้วย เพื่อให้ตอบโจทย์กับพฤติกรรมในการบริโภค

"เรามีแผนที่จะเปิดร้านในกลุ่มประเทศเออีซี (AEC) ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าในระยะนี้ต้องการมุ่งเน้นไปที่ประเทศจีนเป็นหลักก่อน ส่วนการขยายสาขาในประเทศ น่าจะเริ่มต้นอย่างจริงจังในปีหน้า โดยมองว่าจะขยายในกรุงเทพฯ ให้ได้เป็น 5 สาขา ซึ่งเรา 2 คน จะทำหน้าที่ดูแลกันเอง และจะขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ อย่าง นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น โดยจะเป็นการขยายแบบหาพาร์ตเนอร์ที่จะเข้ามาร่วมทุน ซึ่งเราจะต้องมองเห็นว่า ผู้ร่วมทุนมีความตั้งใจและมีเวลาให้กับธุรกิจ


กล้าแต่ไม่ใจร้อน
ด้านหลักคิดในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น ทั้ง 2 คน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า มาจากแนวความคิดที่ใกล้เคียงกัน ผสมผสานกับการที่มีคุณพ่อของเจตน์คอยดูแลอยู่เบื้องหลัง และความกระหายในความสำเร็จทั้งคู่ หรือเรียกว่า เป็นวัยรุ่นที่ต้องการจะสร้างตัวและต้องการมีธุรกิจเป็นของตนเอง โดยมีเป้าหมายเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีความ มั่นใจในผลิตภัณฑ์ เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างรวมไว้ด้วยกัน ทำให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก


TO__9019

อย่างไรก็ตาม หากถามว่ามีข้อแนะนำอะไรที่จะให้กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจ อันดับแรกจะต้องมีความกล้า แต่ต้องไม่ใจร้อน ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจของเรา 2 คน ซึ่งมีระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างเร็ว แต่เราก็ไม่ได้เร่งที่จะเปิดสาขา จะทำแบบที่เรารับได้ ดูตามความสามารถ ไม่ทำอะไรที่เกินตัว และโอกาสมีอยู่รอบตัว


เรื่อง : นิธิโรจน์ เกิดบุญภานุวัฒน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ วงศ์ปรากฎ

หน้า 13 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3409 วันที่ 14-17 ตุลาคม 2561


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6