กระทรวงเกษตรฯเผยความคืบหน้าช่วยเหลือเกษตรกรช่วงภัยแล้ง

24 ก.พ. 2559 | 08:10 น.
กระทรวงเกษตรฯ เผยความคืบหน้าช่วยเหลือเกษตรกรช่วงภัยแล้ง มาตรการที่ 4 ครม.อนุมัติโครงการเพิ่ม 4,937 โครงการ วงเงิน 2,967 ล้านบาท ส่วนที่อนุมัติไปก่อนหน้านี้ เร่งทยอยเบิกจ่ายให้ถึงมือเกษตรกรทันช่วงแล้งแน่นอน วอนทุกฝ่ายร่วมประหยัดน้ำ ยันบริหารจัดการน้ำตามไม่กระทบน้ำประปา

นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ว่า ตามที่ ครม. มีมติอนุมัติหลักการโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งปี 2558/59 ระยะที่ 2 ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เมื่อ 23 ก.พ. 2559 จำนวน 4,937 โครงการ วงเงิน 2,967.41 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1. โครงการเกษตรอื่นๆ 70 จังหวัด 4,041 โครงการ วงเงิน 2,695.54 ล้านบาท อาทิ ลานตาก ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ขุดลอกคลอง เลี้ยงสัตว์ปีกกบ เป็นต้น 2. โครงการนอกภาคเกษตร 44 จังหวัด 896 โครงการ วงเงิน 271.87 ล้านบาท อาทิ แปรรูปอาหาร ผลิตของใช้ในครัวเรือน  เป็นต้น เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างแหล่งอาหารในชุมชน ให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ในช่วงฤดูแล้ง และเพื่อสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการ จนถึงเดือนพฤษภาคม 2559 สำหรับโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณา มีสาเหตุมาจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ คือ ไม่มีการจ้างแรงงานตามเงื่อนไข และดำเนินงานในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์

ขณะที่ความคืบหน้า การดำเนินงานตามมติครม. เมื่อ 2 ก.พ. 2559 จำนวน 3,135 โครงการ วงเงิน 1,614.04 ล้านบาท อยู่ระหว่างสำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติเงินให้กรมส่งเสริมการเกษตร คาดว่าจะอนุมัติเงินภายในสัปดาห์นี้ และกรมส่งเสริมการเกษตรจะโอนเงินถึงชุมชนภายในเดือนนี้ ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงาน ระยะที่ 1 โครงการการปลูกพืชใช้น้ำน้อย (อาศัยความชื้นของดิน) มติครม. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 58 ปัจจุบันโอนเงินให้ศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) แล้ว จำนวน 155 โครงการ วงเงิน 151 ล้านบาท เกษตรกรได้รับประโยชน์ 24,204 ครัวเรือน มีการเบิกจ่ายแล้ว 85.33 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57 เพาะปลูกพืชน้ำน้อยแล้ว 150 โครงการ พื้นที่ปลูก 51,873 ไร่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียวถั่วเหลือง ถั่วลิสง เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 ถึงปัจจุบัน(23 ก.พ. 59) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,868  ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้จนถึงเดือนมิถุนายน 59 ประมาณ  3,068 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า  1,960,000 ไร่ มีแนวโน้มทรงตัว ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้ว 240,000 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1,720,000 ไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2557/58 ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐบาล มารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรกรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลัก ขอให้งดสูบน้ำเพื่อการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่ผลผลิตจะเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ อาจจะไม่เพียงพอใช้ในอนาคต

ส่วนสถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยกรมชลประทาน ได้มีการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดตรวจวัดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สำแล มีค่าความเค็มเฉลี่ยประมาณ 0.15 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เพื่อการผลิตประปาที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบผลิตประปาของการประปานครหลวง รวมทั้ง ในลุ่มน้ำท่าจีน ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ปกติคือ ที่ปากคลองจินดา 0.30 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กล้วยไม้รับได้คือ 0.75 กรัมต่อลิตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสวนกล้วยไม้ในคลองจินดาแต่อย่างใดเช่นกัน ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีนอย่างใกล้ชิด