บิ๊กทุนจีนปาดหน้าขาใหญ่ "ทาทาสตีล"

06 ต.ค. 2561 | 04:39 น.
สะดุ้งไปตาม ๆ กัน เมื่อบิ๊กทุนจีน เข้ามาปักฐานในไทยเพียงไม่กี่ปี สามารถโกยกำไรจากธุรกิจเหล็กปาดหน้าขาใหญ่ "ทาทา สตีล" ไปแล้ว!!

เป็นที่ทอกล์ ออฟ เดอะทาวน์ ของคนในวงการเหล็กว่า ให้จับตาดูบิ๊กทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาลงทุนปักฐานในประเทศไทย ตั้งโรงหลอมเศษเหล็กด้วยระบบ Induction Furnace หรือ IF ที่ว่ากันว่า ระบบผลิตด้วยกรรมวิธีดังกล่าวนี้หลายประเทศไม่ใช้แล้ว เพราะสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนก็ออกมาประกาศยกเลิกการหลอมเศษเหล็กแบบ IF ไปแล้ว จึงมีปริมาณเหล็กหายไปจากจีนมากกว่า 100 ล้านตัน ตอนนั้นสร้างความโล่งใจให้กับผู้เล่นในตลาดโลกที่หวังว่า จีนจะส่งเหล็กออกมาทุ่มตลาดได้ลดลง แต่ในความเป็นจริงกลับกลายเป็นว่า ทุนจีนขนระบบผลิตที่ถูกปิดแล้วห้ามผลิตในจีนเมื่อ 2 ปีก่อน กลับออกมาปักฐานผลิตในอาเซียนซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ที่น่าจับตาเป็นพิเศษทุนจีนกลุ่มนี้มีดาวเด่นอยู่รายหนึ่ง เข้ามาลงทุนในประเทศไทยยังไม่ถึง 10 ปี ตั้งโรงหลอมเหล็กด้วยระบบ IF ส่วนมากหลอมบิลเล็ตเพื่อใช้ในการผลิตเหล็กเส้นของตัวเองเป็นหลัก มีขนาดกำลังผลิตราว 6 แสนตัน ถึง 1 ล้านตันต่อปี เรียกว่าเป็นอันดับรอง ๆ จาก บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ "TSTH" ที่มีกำลังผลิตเต็มราว 1.7 ล้านตัน แต่ผลิตได้จริงราว 1.4 ล้านตัน ในจำนวนนี้ผลิตเหล็กเส้นได้ราว 8 แสนตัน ผลิตโดยกรรมวิธีหลอมด้วยเตาชนิดอาร์คไฟฟ้า (Electric Arc Furnace) หรือ EAF

1ท่อเหล็กดำ

ลงทุนพัฒนากลับแข่งขันยาก
วงการพูดกันให้แซ่ดอีกว่า ผู้ผลิตเหล็กเส้นสัญชาติจีนรายนี้ เป็นบริษัทที่มีผลกำไรดีวันดีคืน จนกำไรไต่ขึ้นมานำ ปาดหน้าบิ๊ก ทาทา สตีลฯ ผู้ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่อันดับ 1 ในประเทศไทยไปแล้ว

หากย้อนดูผลดำเนินธุรกิจของ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ไตรมาสที่ 1 ปี 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2561 บริษัทมีปริมาณการขายในไตรมาสที่ 1 จำนวน 281,000 ตัน เปรียบเทียบกับปริมาณการขายในไตรมาสที่แล้วจำนวน 316,000 ตัน โดยปริมาณการขายในไตรมาสที่ 1 สูงขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ความต้องการเหล็กเส้นในประเทศยังไม่กระเตื้องขึ้น ในขณะที่ ความต้องการสินค้าเหล็กลวดสำเร็จรูปมีแนวโน้มชะลอตัว

สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศของตลาดที่ซบเซา ทั้งนี้ ปริมาณการขายสินค้าภายในประเทศที่ลดลงได้ถูกชดเชยด้วยปริมาณการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอินเดีย กัมพูชา และลาวที่สูงขึ้น

ยอดขายสุทธิในช่วงไตรมาส 1 ปีการเงิน 2562 เป็นจำนวน 5,443 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่สูงขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ราคาขายปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สะท้อนได้ถึงแนวโน้มของราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และในส่วน EBITDA ของไตรมาสที่ 1 ปีการเงิน 2562 อยู่ที่ 216 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 20 จากไตรมาสที่ผ่านมา และสูงขึ้นร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ท่ามกลาง ภาวะที่ตลาดเหล็กแข่งขันกันรุนแรงโดยเฉพาะบรรดาผู้ผลิตเหล็กเส้น ที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทยนานร่วม 10 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็น ทุนสัญชาติไทย หรือ สัญชาติไหน กำลังตั้งข้อสังเกตว่า แม้ออกแรงพัฒนาเหล็กด้วยทุนมากมาย ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ หากผู้บริโภคยังนิยมเหล็กราคาถูก โดยไม่มีความรู้ในเรื่องคุณภาพเหล็กอย่างรอบด้าน ในขณะที่ โครงสร้างต้นทุนการแข่งขันก็ยังยืนอยู่ในเพดานที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

S__40165387

มารู้จักกรรมวิธีผลิต 2 แบบ ในประเทศไทย
ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานะของตลาดเหล็กเส้นในประเทศไทย  แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก และเป็น 2 กลุ่ม ด้วยพื้นฐานต้นทุนที่แตกต่างกัน ดูเปรียบเทียบจากที่กลุ่มแรก เกิดจากการหลอมด้วยเตาชนิดอาร์คไฟฟ้า หรือ EAF ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่ ใช้เงินลงทุนกับระบบดังกล่าวเป็นพัน ๆ ล้านบาท เพื่อให้เหล็กที่ออกมามีคุณภาพดี มีต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตด้วยระบบ Induction Furnace หรือ IF แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ด้วยเม็ดเงินที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

กลุ่มที่ 2 ผลิตเหล็กด้วยระบบ Induction Furnace กลุ่มนี้ผู้ผลิตจะหลอมเศษเหล็ก ออกมาขายเป็นบิลเล็ต เพื่อส่งต่อไปยังบรรดาโรงรีดเหล็กเส้นจำนวนมาก บางรายก็มีสายการผลิตต่อเนื่องไปยังเหล็กเส้นด้วย โดยระบบนี้จะมีต้นทุนรวมที่ถูกกว่า โดยเฉพาะต้นทุนการใช้ไฟฟ้าต่อกิโลกรัม ที่คาดว่าจะถูกกว่าราว 40-50 สตางค์ต่อกิโลกรัม

นั่นแปลว่า ถ้าโรงงานใดผลิตที่ 50,000 ตันต่อเดือน จะลดต้นทุนด้านไฟฟ้าได้ถึง 20 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 240 ล้านบาทต่อปี แต่เหล็กที่ได้ออกมาคุณภาพน้ำเหล็กจะไม่เสถียร และมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ราคาจำหน่ายก็ถูกกว่า

pdh2pa2vej34bcpDn5y-o

ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากวงการเหล็กรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ยังมีข้อถกเถียงกันค่อนข้างมาก เนื่องจากตัวเลขที่เก็บมาเป็นฐานในการคำนวณ บางครั้งถ้าเทียบกันคนละฐานผลลัพธ์อาจเบี่ยงเบนได้ เช่น ควรเทียบจากขนาดเตาที่เท่ากัน ผลิตสินค้าเป็นเหล็กแท่งเหมือนกัน ไม่มีการนำค่าไฟจากการนำเหล็กแท่งไปรีดเป็นเหล็กเส้นต่อเนื่องเข้ามารวม

ฉะนั้นใครถูกกว่าน่าจะเถียงกันไม่จบ แต่ถ้าคิดบนตรรกะทางเอนจิเนียริ่ง การใช้เตาอินดักชั่นที่ใช้กระแสไฟฟ้าเหนี่ยวนำจะไม่มีการรั่วไหลเมื่อเทียบกับแบบ EAF ที่จะมีการรั่วไหล จึงน่าจะใช้ไฟน้อยกว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เตา EAF ต้องใช้แท่งกราไฟต์อิเลคโทรด ขณะที่ อินดักชั่นไม่ต้องใช้ ตรงนี้ก็เป็นต้นทุนที่สูงทีเดียวสำหรับพวก EAF

การย้ายเครื่องจักร Induction Furnace มาปักฐานในประเทศไทยและอาเซียนของทุนจีน กำลังพาผลกระทบถึงความไม่ปลอดภัยของอาคารบ้านเรือน เพราะเหล็กเส้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในพื้นฐานงานก่อสร้าง ถ้าไม่แข็งแรง ก็จะเกิดปัญหาถึงชีวิตและทรัพย์สิน ประชาชนไม่มีความรู้ก็จะซื้อเหล็กในราคาถูกมาใช้ เช่นเดียวกับผู้รับเหมาก่อสร้างบางรายที่หวังแต่ผลทางธุรกิจ ไม่ได้มองผลต่อชีวิตของคนที่จะตามมา เลือกใช้เหล็กเกรดต่ำ นับว่าเป็นความโชคร้ายของผู้บริโภคปลายทาง

มีการตั้งคำถามว่า ในเมื่อหลายประเทศเลิกผลิตเหล็กด้วยระบบ Induction Furnace ไปแล้ว แต่ทำไมไทยถึงสวนกระแส แล้วข้าราชการไทยที่เกี่ยวข้องทำอะไรอยู่!!!

แม้ว่าขณะนั้นจะมีคนคัดค้านการตั้งโรงงานเตาอินดักชั่น แต่สุดท้ายกรมโรงงานก็อนุญาตให้ตั้งได้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีกฎหมายอะไรรองรับที่จะไม่ให้ตั้ง

ผู้ผลิตและนำเข้าเหล็กอีกรายกล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐบาลไทยอ่อนแอที่จะสนับสนุนผู้ผลิตภายในประเทศ ทั้งที่ตามหลักการของภาครัฐแล้วจะต้องช่วยผู้ผลิตภายในประเทศให้เติบโต และผู้ผลิตในประเทศก็ต้องสู้กับต่างประเทศให้ได้ และเมื่อรัฐบาลช่วยปกป้อง ก็ต้องมีระยะเวลา ไม่ใช่คุ้มครองตลอดไป เหมือนครั้งหนึ่งที่อุตสาหกรรมเหล็กถูกกล่าวว่าเป็น "อุตสาหกรรมเฒ่าทารก"

ถึงวันนี้อุตสาหกรรมเหล็กควรเติบโตจนเป็นที่หนึ่งในภูมิภาคนี้ได้แล้ว แต่สุดท้ายเวียดนามก็แซงหน้าไปจนได้  จุดอ่อนของไทย คือ เปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย นโยบายที่ตั้งไข่ไว้ก็ไม่ได้ถูกสานต่อ หรือ ต่อยอด จนสุดท้ายโรงถลุงเหล็กก็ไม่เกิด ทำให้ไทยเสียโอกาสในหลาย ๆ ด้าน ขณะที่ ผู้ผลิตในประเทศก็มีเพียงไม่กี่รายที่ปรับตัว เมื่อปรับตัวแล้วก็แข่งขันไม่ได้

ถึงเวลาแล้วที่ รัฐบาลจะต้องไปคิดต่อ ... ว่าควรจะทำอย่างไรกับอุตสาหกรรมเหล็ก ควรส่งเสริมต่อไปและทำให้การแข่งขันอยู่ในพื้นฐานเดียวกัน และผู้บริโภคสุดท้ายได้ประโยชน์สูงสุด หรือจะปิดประตูหยุดการสนับสนุน แล้วปล่อยให้อุตสาหกรรมเหล็กที่อยู่ในประเทศไทยค่อย ๆ ล้มหายไป หรือ แปรสภาพเหลือแต่ผู้นำเข้าเหล็กเกลื่อนเมือง โดยผู้ใช้ไม่รู้ชะตากรรมว่า เหล็กนั้นแบบไหนคุณภาพดี!

กกกก 090861-1927-9-335x503-8-335x503 เพิ่มเพื่อน e-book-1-503x62-7