โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแห่งเขื่อนยามะคุระเริ่มการก่อสร้างแล้ว

27 ก.พ. 2559 | 12:00 น.
เป็นข่าวมาได้ประมาณปีกว่าแล้วที่ว่าญี่ปุ่นกำลังจะก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มลงในน้ำ หรือที่เรียกกันว่า โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (floating solar farm) ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้แก่ชุมชนโดยรอบได้ถึง 5 พันครัวเรือน โครงการนี้ ดำเนินการโดยบริษัท เคียวเซร่า แห่งประเทศญี่ปุ่น โดยผู้บริหารของเคียวเซร่าออกมาระบุว่า โครงการนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะกลายเป็นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

[caption id="attachment_33563" align="aligncenter" width="500"] โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ[/caption]

ขณะนี้การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยเป็นการสร้างแท่นลอยน้ำลงในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนยามะคุระ จังหวัดชิบะ เพื่อจะทำการติดตั้งแผงพลังแสงอาทิตย์จำนวนราว 5 หมื่นแผง ส่วนโรงผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งจะตั้งอยู่บนแท่นลอยน้ำเช่นกันนั้นจะมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 13.7 เมกะวัตต์

ที่ต้องมาลอยน้ำเช่นนี้เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะเล็กๆ มีพื้นที่น้อยกว่ารัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ ขณะที่การก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มต้องใช้พื้นที่กว้างขวางมาก ดังนั้น โครงการนี้จึงต้องลงไปอาศัยพื้นที่บนแผ่นน้ำ กลายเป็นความโดดเด่นของโครงการไปในทันทีทันใด ซึ่งหากจะถามว่า นี่คือโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแห่งแรกของญี่ปุ่นหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะก่อนหน้านี้ เคียวเซร่าก็เคยสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำมาแล้วถึง 3 แห่ง แต่ถ้าจะพูดถึงขนาดแล้ว โซลาร์ฟาร์มแห่งเขื่อนยามะคุระ ถือว่าใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและเชื่อว่าน่าจะใหญ่ที่สุดในโลกด้วย คือจะมีพื้นที่ครอบคลุมผืนน้ำเกือบๆ 2 ล้านตารางฟุต หรือประมาณ 1.8 แสนตารางเมตร

คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559