'อุตตม' ปลุกรถอีวี! เพิ่มสิทธิ์อีโคคาร์ 2

03 ต.ค. 2561 | 04:57 น.
031061-1139

'อุตตม' จี้ขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า ดึงอีโคคาร์ 2 แปลง สิทธิประโยชน์บีโอไอเข้าสู่โหมดการผลิตอีวีได้ด้วย โดยกำหนดภาษีสรรพสามิตใหม่ จูงใจขึ้น และให้การส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้าสำคัญเพิ่มเติม พร้อมปลดล็อก ขสมก. ให้ใช้รถโดยสารอีวีที่ผลิตขึ้นในประเทศได้

หลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดเป็นรูปธรรม จนถึงขณะนี้การผลักดันดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เห็นได้จากมีผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนเพียง 6 ราย ประกอบด้วย การผลิตรถยนต์ไฮบริด 3 ราย ได้แก่ โตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน และผลิตรถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด 3 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับบลิว และเอ็มจี ในขณะที่ ผู้ผลิตรถยนต์บีอีวีที่ใช้แบตเตอรี่ 100% ยังไม่มีบริษัทรถยนต์รายใดยื่นขอรับส่งเสริมลงทุน เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมและความไม่ชัดเจนด้านนโยบายของรัฐ

 

[caption id="attachment_327135" align="aligncenter" width="313"] อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเร่งจะผลักดันให้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ไปเร่งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงการคลัง ไปปรับปรุงการดำเนินงานในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่เป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดย สศอ. ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน มาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าที่ออกมา มีผู้ประกอบการบางรายทำการผลิตได้เพียงการประกอบรถยนต์และแบตเตอรี่ระดับแพ็กกิ้งเท่านั้น ยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญของรถยนต์ได้ หรือ มาตรการที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมการผลิตหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ จึงต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นแบบปลั๊กอิน-ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ 100% หรือ บีอีวี ให้เกิดเป็นฐานการผลิตในลักษณะเดียวกับรถยนต์อีโคคาร์ ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนใหญ่ของประเทศราว 54% สามารถเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งแนวทางการดำเนินงานนั้น จะต้องเปิดให้ผู้ผลิตอีโคคาร์ ระยะที่ 2 สามารถปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่อีโคคาร์อีวีได้ โดยยังคงเงื่อนไขส่วนใหญ่และสิทธิประโยชน์ของอีโคคาร์เหมือนเดิมไว้ เช่น ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 6 ปี แต่ถ้ารายใดมีการลงทุนหรือใช้จ่ายเพื่อพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี รวมเป็น 8 ปี หากผู้ผลิตรถอีโคคาร์รายนั้นสามารถปรับการผลิตไปสู่รถอีโคคาร์อีวีได้ด้วย ก็จะกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับอีโคคาร์อีวีที่เหมาะสมขึ้นมา เพื่อให้เกิดการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรม โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยี ซึ่งรายละเอียดด้านภาษีสรรพสามิตจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป


mp36-3266-b

นอกจากนี้ จำเป็นต้องสร้างฐานการผลิตรถยนต์อีวี ที่ผู้ประกอบการในประเทศมีศักยภาพอยู่แล้ว เช่น รถโดยสารไฟฟ้า หรือ รถสามล้อไฟฟ้า หรือ รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศเกิดการเรียนรู้และพัฒนาไปสู่การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันพบว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถโดยสาร ยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตในประเทศมีการประกอบรถโดยสารไฟฟ้า การแก้ปัญหาจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดหารถโดยสารไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถประกอบรถโดยสารไฟฟ้าได้

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์ กล่าวว่า ไม่ควรเอามารวมกัน เพราะเชื่อว่า บริษัทแม่ของแต่ละเจ้าต่างมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกันหมด รัฐควรกระตุ้นให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศไทยมากกว่า

ขณะที่ นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แนวคิดของรัฐที่ออกมานั้น เพื่อต้องการให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยก้าวสู่ยานยนต์ไฟฟ้าแบบเป็นรูปธรรม และการเลือกเซ็กเมนต์อีโคคาร์ เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่และคนเป็นเจ้าของรถได้ง่าย เพราะราคาจับต้องได้ แต่ในเบื้องต้น มาสด้าต้องขอศึกษาเงื่อนไขรายละเอียด หรือ สิทธิประโยชน์ที่จะออกมาก่อน หากสามารถผลิตรถที่ประหยัดและมีเทคโนโลยีในราคาย่อมเยา ลูกค้าก็จะเป็นเจ้าของได้ง่าย

 

[caption id="attachment_327138" align="aligncenter" width="503"] ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหาร ฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด[/caption]

อนึ่งอัตราภาษีสรรพสามิตอีโคคาร์ ระยะที่ 1 จะอยู่ที่อัตรา 17% (ปล่อยก๊าซเกิน 100-120 กรัมต่อกิโลเมตร) ส่วนอีโคคาร์ ระยะที่ 2 เป็นรถที่ประหยัดน้ำมัน ประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปล่อยไอเสียต่ำกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร โดยจะเสียภาษีเพียง 14% แต่ถ้าปล่อยก๊าซไม่เกิน 100 กรัมต่อกิโลเมตร และใช้น้ำมัน E85 ด้วย จะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพียง 12%


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,405 วันที่ 30 ก.ย. - 3 ต.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รถบีอีวียังเร่งเครื่องไม่ติด สำนักงบฯเบรกจัดซื้อ-เมินลดภาษีสรรพสามิต
ทุ่ม1พันล้านดันไทยฮับอีวี  สถาบันยานยนต์ผุดศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า


เพิ่มเพื่อน
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว