สนามบินตรังรอรับงบปี 63 สร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่

03 ต.ค. 2561 | 03:00 น.
รมว.คมนาคมชี้แผนสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินตรังจ่อคิวปี 63 ตั้งงบผูกพันเอกชนขานรับสุดตัว พร้อมฝากรัฐบาลใหม่สานต่อแผนสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และขยายรันเวย์เป็น 2,990 เมตรจนแล้วเสร็จ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ในโอกาสเดินทางไปราชการที่จังหวัดตรังว่า ในส่วนของการขยายท่าอากาศยานตรัง ได้ทำการขยายตัวอาคาร ทั้งด้านผู้โดยสารขาออกและขาเข้า เป็นโครงการขยายอาคารเดิม ส่วนอาคารใหม่เริ่มดำเนินการในปี 2563 โดยปี 2562 จะดำเนินการของสนามบินสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช และในปี 2563 จะเป็นสนามบินตรัง ซึ่งจะขยายเต็มรูปแบบเป็นอาคารใหม่ จะเป็นงบผูกพัน ซึ่งหากมีการเปลี่ยนรัฐบาลยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะเป็นงบประมาณที่ตั้งไว้ผูกพัน 2 ปี มีตัวอาคารและตัวแท็กซี่เวย์อีกด้านหนึ่งของสนามบิน เพราะปัจจุบันที่ตั้งของตัวอาคารเดิมค่อนข้างคับแคบ ขยายมากไม่ได้ จึงต้องย้ายไปอีกด้านหนึ่ง

local04

ด้านนายธวัช โพธิ์เย็น นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นก็ต้องขอบคุณรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่จัดสรรงบประมาณมาสำหรับขยายท่าอากาศยานตรัง ให้มีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร ซึ่งมีทั้งนักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน และนักท่องเที่ยว รวมถึงการขนส่งสินค้าทางอากาศสู่จังหวัดตรัง

“เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงคมนาคมจัดสรรงบประมาณในการขยายท่าอากาศยานตรัง เพราะปัจจุบันนี้ท่าอากาศยานตรังคับแคบ มีเที่ยวบินไปกลับวันละ 12 เที่ยวบินในช่วงปกติ หากเป็นช่วงไฮซีซันจะเพิ่มเป็น 18 เที่ยวบิน โดยมีผู้โดยสารจากสตูล พัทลุง และตรัง รวมทั้งนักท่องเที่ยว เดินทางมาใช้ท่าอากาศยานตรังเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลและรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณมาใช้พัฒนาท่าอากาศยานตรังจนเสร็จสิ้นตามแผนที่วางไว้ คือสร้างอาคารที่พักหลังใหม่ และขยายรันเวย์หรือทางวิ่งเครื่องบินให้ได้ 2,990 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินเช่าเหมาลำจากต่างประเทศ เช่น จีน และยุโรป ที่ผ่านมาทัวร์จีน ยูนนาน คุนหมิง เฉิงตู มีความประสงค์จะนำนักท่องเที่ยวด้วยเครื่องเช่าเหมา มาลงที่ท่าอากาศยานตรัง แต่ติดปัญหาสภาพอาคารที่พักผู้โดยสารคับแคบ รันเวย์สั้น”

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องหนึ่ง การคมนาคมที่เชื่อมจากท่าอากาศยานตรังไปยังจังหวัดสตูล พัทลุง กระบี่ นครศรีธรรมราช และสถานที่ท่องเที่ยวต่างอยากให้หน่วยงานของภาครัฐดำเนินการในเรื่องนี้ โดยให้ทางเอกชนลงทุนจัดรถมาวิ่งรับส่งผู้โดยสารให้เกิดความสะดวกในการเดินทาง ซึ่งจะทำให้การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวไหลลื่น เพราะขณะนี้ยังติดขัด ไม่มีรถให้บริการเชื่อมระหว่างสนามบินไปยังจุดหมายปลายทางและสถานที่ท่องเที่ยว

595959859 ส่วนการเดินทางระหว่างภูเก็ตถึงเกาะลังกาวีของมาเลเซีย นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป สแกนดิเนเวียและชาติอื่นๆ จะนิยมเดินทางท่องเที่ยวโดยเรือโดยสารที่วิ่งรับส่งผู้โดยสารจากเกาะภูเก็ต เกาะพีพี เกาะลันตา เกาะไหง เกาะกระดาน เกาะมุก เกาะบุโหลน เกาะหลีเป๊ะ และเกาะลังกาวีของมาเลเซีย เพราะนักท่องเที่ยวเหล่านั้น จะได้นอนพักในแต่ละเกาะ เส้นทางนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางจำนวนมาก

ท่องเที่ยวในจังหวัดตรัง เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่การท่องเที่ยว ชายหาด ทะเล เกาะ ของตรังอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเป็นจำนวนมาก ภาครัฐจะมีแผนอย่างไรในการให้เอกชนสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ให้เม็ดเงินไหลเข้าจังหวัดตรัง

“ปัจจุบันโปรแกรมการท่องเที่ยวทะเลตรังแบบเช้าไปเย็นกลับ ยังได้รับความนิยม ทราบว่า กรมเจ้าท่า คมนาคม ได้จัดสรรงบสร้างขยายท่าเรือปากเมงเพื่อการท่องเที่ยวจำนวน 125 ล้านบาทแล้ว หากสร้าง แล้วเสร็จจะเกิดผลดีด้านความปลอดภัยและการท่องเที่ยว”นายธวัช กล่าว

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,405 วันที่ 30 กันยายน-3 ตุลาคม 2561 090861-1927-9-335x503-8-335x503