ทุนยักษ์ชงแก้ "สีผัง กทม." !! "เซ็นทรัล-เจ้าสัวเจริญ-MQDC" ยื่นอัพเกรดพื้นที่สีแดงขึ้นตึกสูง

24 ก.ย. 2561 | 06:47 น.
270961-1204

เจ้าของที่นับ 100 ทุนยักษ์ยื่นเปลี่ยนสีผัง กทม. ใหม่ เพิ่มมูลค่า จากพื้นที่สีเขียว-เหลือง "เกษตร-อยู่อาศัย" เป็นสีแดงผุดตึกสูง-ใหญ่-ศูนย์การค้า ... 'เซ็นทรัล' ขอบางขุนเทียนผุดห้าง ... 'เจ้าสัวเจริญ' ผุดศูนย์ประชุมระดับโลก ถนนประเสริฐมนูกิจ- ขยายเอเชียทีค ย่านเจริญกรุง ขณะที่ 'แมกโนเลีย' ขอสร้างออฟฟิศติดสถานีบีทีเอสปุณณวิถี

สืบเนื่องจากผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างปรับปรุงครั้งที่ 4 คาดว่า ปลายปีนี้จะจัดประชาพิจารณ์ใหญ่รับฟังความคิดเห็นประชาชน ขณะที่ เจ้าของที่ดินรายใหญ่-รายย่อย 100 ราย ยื่นแล้วขอปรับสีผังพัฒนาพื้นที่เพิ่มมูลค่าที่ดิน

นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ กรรมการผู้จัดการ บจก.เดวา เรียลเอสเตท นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นนทบุรีและเลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ปัจจุบันราคาที่ดินขยับไปไกล ตามการขยายโครงข่ายรถไฟฟ้า แม้ กทม. จะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโดยรอบสถานี แต่มองว่า ยังไม่สะท้อนกับข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ทุกแห่งที่รถไฟฟ้าไป ควรปรับให้เกิดการพัฒนาได้สูงสุด เช่น พื้นที่สีน้ำตาล


mp29-3403-a


สอดคล้องกับ นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ริชี่เพลซ 2002 (RICHY) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ทุกพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าผ่าน กทม. ควรปรับผังเมืองให้พัฒนาสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เช่น พื้นที่สีน้ำตาล เนื่องจากราคาที่ดินวิ่งไปไกล

ด้าน แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร ยอมรับว่า มีเจ้าของที่ดินกว่า 100 ราย ยื่นขอเปลี่ยนสีการใช้ประโยชน์ที่ดินผังเมือง กทม. ที่ทั้งประชาชนทั่วไป จนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่

ประเด็นของการขอปรับสีผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน กรณีเจ้าของพื้นที่รายย่อยส่วนใหญ่ต้องการพื้นที่ของตนเองเจริญขึ้นและสามารถพัฒนาได้ หรือไม่ก็ขายต่อให้กับนายทุน ขณะที่ ผู้ประกอบการรายใหญ่มีประมาณ 3 ราย ที่เสนอขอเปลี่ยนสีผัง โดยอ้างว่าเพื่อต้องการพัฒนา ตามต้นทุนที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงโครงข่ายรถไฟฟ้ารองรับคนทำงานและอยู่อาศัยย่านดังกล่าว

ได้แก่ ทำเลเจริญกรุง ทีซีซีแลนด์ต้องการขยายโครงการเอเชียทีคออกไปบริเวณด้านข้าง โดยขอให้ผัง กทม. ฉบับใหม่ เปลี่ยนพื้นที่สีน้ำตาล ย.8 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) เป็นพื้นที่สีแดง พาณิชยกรรมระดับสูงสร้างห้างศูนย์การค้าแหล่งช็อปปิ้งขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ยังขอเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินบนถนนประเสริฐมนูกิจ เนื้อที่ 300 ไร่ ที่มีแผนพัฒนาเป็นศูนย์การประชุมและนิทรรศการระดับโลก จากพื้นที่สีเหลืองบริเวณด้านในเป็นพื้นที่สีแดง เพื่อให้สอดรับกับโครงการที่น่าจะมีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศในอนาคต

 

[caption id="attachment_321220" align="aligncenter" width="335"] เลิศมงคล วราเวณุชย์  เลิศมงคล วราเวณุชย์[/caption]

นอกจากนี้ ยังมีแ 'แมกโนเลีย' หรือ MQDC ขอปรับพื้นที่สีส้ม ย.7 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) บริเวณสถานีบีทีเอสปุณณวิถี เป็นพื้นที่สีแดงระดับสูง โดยระบุว่า ต้องการพัฒนาอาคารสำนักงานรองรับกลุ่มคนทำงานย่านใกล้เคียง นอกจากโครงการวันโอวันวิสซ์ดอม สุขุมวิท 64 ซึ่งปัจจุบันเป็นโครงการใหญ่ลักษณะศูนย์การเรียนรู้และไอที

ขณะที่ กลุ่มเซ็นทรัลยื่นขอปรับจากพื้นที่สีเขียว ทำเลบางขุนนนท์ เป็นพื้นที่สีแดงระดับสูง เพื่อสร้างศูนย์การค้า อย่างไรก็ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะปรับได้มากน้อยแค่ไหน

นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการ สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ผังเมืองใหม่ต้องการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาเมือง ดังนั้น หากเจ้าของที่ดินต้องการแนะนำสามารถเข้ามาได้ เพื่อช่วยปรับปรุงวางผังเมืองฉบับใหม่ ไม่เน้นความสำคัญของสีการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่จะพิจารณาข้อกำหนดเกี่ยวกับการเชื่อมโยงระบบคมนาคม อาทิ รถไฟฟ้าและแนวคิดการพัฒนาเมืองและมีการกำหนดศูนย์กลางความเจริญของเมือง เช่น ศูนย์กลางบางซื่อ และส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมในบางพื้นที่ เช่น พระราม 4 บางกะปิ ทั้งนี้ ย่านบางกะปิมีพื้นที่ 66,400 ตารางเมตร

"ดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง และคิดว่าผังเมืองรวมฉบับใหม่ส่งเสริมการพัฒนาไปในทางที่ดี"

สรุปหลัก ๆ ผังเมืองใหม่ ส่งเสริมการพัฒนาโดยรอบพื้นที่สถานีระบบขนส่งมวลชนรางต่าง ๆ โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางสำคัญ เช่น สยาม บางหว้า ตลิ่งชัน ท่าพระ บางกะปิ ขณะเดียวกันได้กำหนดศูนย์คมนาคมแห่งใหม่ (บางซื่อ) และส่งเสริมย่านพระราม 9 เป็นนิวซีบีดี อีกทั้งยังส่งเสริมพื้นที่พาณิชยกรรมพิเศษด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ (เจริญกรุง) และส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมือง 8 แห่ง มีนบุรี ลาดกระบัง ศรีนครินทร์ บางขุนเทียน บางมด ตลิ่งชัน และสะพานใหม่


……………….
เซกชัน : อสังหาฯ โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,403 วันที่ 23-26 ก.ย. 2561 หน้า 29-30

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เอกชนหวั่น! "ผังเมืองใหม่" คอนโดฯ แพงเกินจะซื้อได้
ลุยผังไร้รอยต่อ! "กรุงเทพฯ-ปริมณฑล" รับโครงข่ายรถไฟฟ้า


เพิ่มเพื่อน
e-book-1-503x62-7