"เอสเอ็มอีไทย" ปรับไลน์ผลิต! รุกคืบ "ชิ้นส่วนอากาศยาน"

25 ก.ย. 2561 | 02:46 น.
นับจากที่รัฐบาลเดินหน้าปักธงประกาศยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ขึ้นสู่สังเวียนการแข่งขันที่มีทักษะฝีมือ มีนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ทำให้หลายอุตสาหกรรมต้องการข้ามห้วยไปสู่อีกไลน์การผลิต เพราะมองว่า อุตสาหกรรมที่ทำอยู่เริ่มไม่น่าสนใจ หรือ มีผู้เล่นมากราย จนไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป ขณะที่ ทิศทางโลกกำลังเดินไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตมากขึ้น

นายปิยะ สุทันต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและโลจิสติกส์ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย หรือ THAI SUBCON ให้สัมภาษณ์ผ่าน "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงบทบาทของอุตสาหกรรมในประเทศ ที่อยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายที่อยู่ในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ต้องการปรับตัว เพื่อก้าวไปสู่อีกธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องปิดกิจการ หรือ ย้ายโรงงาน และที่สำคัญเครื่องจักรบางส่วนสามารถใช้งานต่อได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีอยู่จำนวนมาก และมีบางรายต้องการผันตัวเองไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งมีความสนใจในธุรกิจนี้ แต่ยังขาดองค์ความรู้และเข้าใจในด้านต่าง ๆ เช่น ความเข้าใจเรื่องมาตรฐาน , กระบวนการ และการตลาด ฯลฯ แผนปีหน้าต้องขับเคลื่อน

PI1

ดังนั้น ตามแผนพัฒนาของกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยาน ปี 2562 สิ่งที่เราจะต้องขับเคลื่อนไป จะประกอบด้วย การร่วมประชุมขององค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน , การกำหนดหน้าที่และความชำนาญ แต่ละหน่วยงานที่สำคัญจะต้องจัดตั้งศูนย์กลางอำนวยความสะดวก รวมถึงจัดสัมมนา เพื่อแสดงให้ SMEs อื่น ๆ ที่สนใจ เห็นและเข้าใจในกระบวนการที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้น รวมถึงมีทุนส่งเสริมสนับสนุน สำหรับ SMEs ที่เข้าใจและมีศักยภาพเพียงพอ และจะต้องมีการดึงผู้ประกอบการต่างชาติที่มี Technology & Connection ทางด้านนี้ เข้ามาร่วมกับ SMEs ไทย (Jointventure) โดยมีภาครัฐช่วยประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลก สนใจสามารถติดต่อมาที่ศูนย์กลางอำนวยความสะดวกที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ตามแผนปีหน้า

จับมือกับรัฐ-เอกชน
นอกจากนี้ ตามเป้าหมายที่วางไว้จะทำงานร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ แบบบูรณาการมากขึ้น ต่อไปจะมีหลายโครงการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สวทช. , สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ Gistda , กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงภาคกระทรวงคมนาคม เช่น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT และความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารกสิกรไทย ทำโครงการ Good To Great คัดเลือกเอสอ็มอี รวมถึงคัดเลือกนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่หล่อและสวย แต่เก่ง และประสบความสำเร็จ มาร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในการสนับสนุนและชักจูงการลงทุนด้านชิ้นส่วนอากาศยาน ให้ลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย เป็นต้น

PP25

พัฒนาให้เข้าถึง AS9100
นายปิยะ กล่าวอีกว่า บทบาทของกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและโลจิสติกส์ที่เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ส่วนมากจะเป็นการจัดสัมมนา ประชาสัมพันธ์ และที่น่าสนใจ คือ การเข้าไปเป็นตัวกลางในการดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามา Matching กับ SMEs ไทย และพาผู้ประกอบการไปเยี่ยมชมโรงงานของกลุ่มเป้าหมาย และอำนวยความสะดวกให้มีการเจรจาธุรกิจการค้า และโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการให้พัฒนามาตรฐานของโรงงาน ให้เข้าถึงมาตรฐานบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอากาศยาน หรือ AS9100 เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ผลิตไทยที่มีมาตรฐาน AS9100 มีไม่ถึง 40 ราย ในขณะที่ จีนมีกว่า 1,000 ราย และญี่ปุ่นมีมากกว่า 800 ราย ดังนั้น เราต้องพัฒนาไปสู่เป้าหมายให้ได้

PP22

ปัจจุบัน กลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานของ THAI SUBCON ในขณะนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.จัดกลุ่ม SMEs ที่สนใจ โดยแยกระดับตามความรู้ ความสามารถ เป็น 3 ระดับเป้าหมาย คือ ระดับ Commercial Aviation (อุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์) , ระดับ General Aviation (การบินทั่วไป เช่น เครื่องบินใบพัดและเครื่องบินส่วนตัว) และระดับ Ground Equipment (อุปกรณ์ภาคพื้นดินและสนามบิน) 2.รวมกลุ่มองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนในการช่วยขับเคลื่อน ตั้งเป็นศูนย์ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ 3. มีทีมงานช่วยประสานแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในระดับต่าง ๆ 3 ระดับดังกล่าว

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและโลจิสติกส์ กล่าวอีกว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมอากาศยานก็เป็น 1 ในนั้น นับว่าเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะไทยจะเป็นศูนย์กลางทางด้านการบิน (Aviation) ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ซึ่งจะมีส่วนดึงผู้ลงทุนทางด้านศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) เข้ามา แม้การพัฒนา SMEs ไทย อาจช้าไป แต่การร่วมมือกันขององค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป็นศูนย์อำนวยความสะดวก จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนและแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

PP23

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าด้านเทคโนโลยีและความเข้าใจในอุตสาหกรรมด้านนี้ เรายังสู้ประเทศที่เป็นผู้ผลิตเดิม รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ไม่ได้ แต่ความเป็นศูนย์กลางด้านการบินและการรวมกันขององค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงมีศูนย์กลางในการช่วยประสานงานแก่ SMEs ไทย จะช่วยให้แข่งขันกับต่างชาติได

บิน2 บิน3

……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : ปิยะ สุทันต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอากาศยานและโลจิสติกส์ สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (THAI SUBCON) เซกชัน : เอสเอ็มอี โดย งามตา สืบเชื้อวงศ์

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,403 วันที่ 23-26 ก.ย. 2561 หน้า 13

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว