การไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)ลงทุนสายส่งอีก3หมื่นล้าน จ่อชงครม.อนุมัติพร้อมเดินหน้าหาผู้รับเหมาโครงการ 1.5 แสนล้าน

19 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
กฟผ.เตรียมชง ครม.อนุมัติโครงการสายส่งสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่ ระยะทาง 320 กิโลเมตร มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดประกวดราคาโครงการปรับปรุงสายส่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-ภาคใต้ 500 เควี มูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท มั่นใจเฟสแรกเสร็จปี 2562 หนุนความมั่นคงไฟฟ้าเพิ่ม ขณะที่โครงการนำร่องสมาร์ทกริดแม่ฮ่องสอนระยะแรกเริ่มใช้ปี 2561

นายธวัชชัย สำราญวานิช ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า-ระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กฟผ. เตรียมที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติลงทุนในโครงการสายส่ง 500 เควี จากสุราษฎร์ธานี-อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แบ่งเป็น 2 ระยะ จาก จ.สุราษฎร์ธานี-อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และสายส่งจากอ.ทุ่งสง-อ.หาดใหญ่ ระยะทางรวม 320 กิโลเมตร มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบในอนาคต ที่คาดว่าจะทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป ซึ่งโครงการดังกล่าว ถือเป็นโครงการเพิ่มเติมจากโครงการปรับปรุงสายส่ง 500เควี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้ ที่ครม.เคยอนุมัติไว้ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา

สำหรับความคืบหน้าโครงการปรับปรุงสายส่ง 500 เควี แบ่งเป็นสายส่งที่ 1-3 โครงการระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพฯ มูลค่าเงินลงทุน 9.4 หมื่นล้านบาท และสายส่งที่ 4-6 โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้ มูลค่าเงินลงทุน 6.3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน กฟผ.ตั้งทีมสำรวจแนวสายส่ง และเริ่มจัดซื้อที่ดินก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง

โดยโครงการสายส่งที่ 1-3 ยังต้องรอข้อมูลสำรวจถึงความเป็นไปได้ คาดว่าจะเริ่มประกวดราคาได้ภายในปี 2560 อาทิ โครงการสายส่งจากอุบลราชธานี-ร้อยเอ็ด ระยะทาง 170-180 กิโลเมตร และโครงการสายส่งจากร้อยเอ็ด-ชัยภูมิ ระยะทาง 200 กิโลเมตร ตามแผนจะทยอยเสร็จภายในปี 2562-2566 สามารถรองรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบในอนาคตได้

ขณะที่โครงการปรับปรุงสายส่งภาคตะวันตกและภาคใต้ ขณะนี้ข้อมูลสำรวจเสร็จแล้วบางส่วน โดย กฟผ. เตรียมออกแบบและเปิดประกวดราคาได้ภายในปี 2559 นอกจากนี้ กฟผ. เตรียมทำโครงการสายส่งชั่วคราว 230 เควีที่ภูเก็ต คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ เนื่องจากพบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภูเก็ตเติบโตขึ้นอย่างมาก หรือประมาณ 5-8% ต่อปี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีสายส่งชั่วคราวคู่ขนานกับสายส่งเสริม แต่หลังจากที่โครงการปรับปรุงสายส่งภาคใต้ 500เควีแล้วเสร็จในปี 2562 ก็จะรื้อโครงการสายส่งชั่วคราวออกไป

นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการนำร่องระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริดที่แม่ฮ่องสอน มูลค่าเงินลงทุนระยะแรก 720 ล้านบาทนั้น คาดแล้วเสร็จปี 2561 สาเหตุที่ กฟผ. เลือกนำร่องระบบสมาร์ทกริดที่แม่ฮ่องสอนก่อน เนื่องจากปัจจุบัน แม่ฮ่องสอนต้องส่งไฟฟ้ามาจากเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 200 กิโลเมตร จึงเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องบ่อยครั้ง และทำให้ความเชื่อถือได้ในการใช้ไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากสถิติในปี 2556 มีเหตุไฟฟ้าดับเกิดขึ้นถึง 83 ครั้ง หากระบบดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริง จะมีการดำเนินแผนระยะกลางและระยะยาวต่อไป ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ( 2558-2579) หรือ พีดีพี 2015

โดยปัจจุบันหลายประเทศเริ่มนำระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะมาใช้ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าภายในประเทศ เพราะเป็นนวัตกรรมที่ลดการสูญเสียทรัพยากรไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระหว่างการจัดส่งไฟฟ้าเข้าระบบการใช้งาน โดยระบบสมาร์ทกริดเป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต การส่ง และการจ่ายพลังงานไฟฟ้า สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดและกระจายอยู่ทั่วไป และระบบบริหารการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งให้บริการกับผู้เชื่อมต่อกับโครงข่ายผ่านมิเตอร์อัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้ และมีคุณภาพไฟฟ้าได้มาตรฐานสากล

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย ปี2558-2579 แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการอยู่ในระหว่างปี 2558-2559 ระยะสั้นอยู่ในช่วงปี 2560-2564 ระยะกลางอยู่ในช่วงปี 2565-2574 และในระยะยาวอยู่ในช่วงปี 2575-2579 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนแม่บทที่กระทรวงพลังงานจัดทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559