SMEsหันซบสินเชื่อบุคคลยอมจ่ายดอก18%

18 ก.พ. 2559 | 11:00 น.
ธุรกิจเอสเอ็มอีแห่ขอใช้สินเชื่อบุคคลเสริมสภาพคล่อง หลังแบงก์เข้มปล่อยกู้ ด้าน "กรุงศรี คอนซูมเมอร์" ระบุเจ้าของธุรกิจหันกู้สั้นเฉลี่ย 1ล้านบาทต่อราย ไม่หวั่นแม้ดอกเบี้ยแพงตามความเสี่ยงเฉลี่ย 18-22% ชี้เอ็นพีแอลสูงกว่าลูกค้าทั่วไป 1% ด้าน "ซีไอเอ็มบีไทย" เผยมีในพอร์ต 5-10% เปิดช่องถ้ามีความต้องการ-ย้ำไม่เน้นปล่อย ฟาก"เคทีซี" ลั่น ไม่ลงเล่นกลุ่ม เหตุความเสี่ยงสูง-เข้าถึงบริการธนาคารได้ ส่วน "กสิกรไทย" ชี้พฤติกรรมลูกค้าโยกใช้วงเงินประเภทอื่นนานแล้ว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มเห็นสัญญาณของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัว หรือกลุ่มเอสเอ็มอี เข้ามาขอใช้วงเงินในสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากในช่วงก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น ทำให้คนที่กู้ไม่ผ่าน หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอ จึงเข้ามาใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลแทน เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน แต่อัตราดอกเบี้ยที่ถูกคิดจะสูงกว่าสินเชื่อเอสเอ็มอี โดยเฉลี่ยจะวิ่งอยู่ที่ 18-22% จากเพดานที่คิดได้ 28% อย่างไรก็ดี ลูกค้ากลุ่มนี้จะใช้วงเงินระยะสั้นประมาณ 6-8 เดือน วงเงินเฉลี่ยประมาณ 1 ล้านบาทต่อราย เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องเป็นหลัก ทำให้มีการชำระคืนหนี้ค่อนข้างเร็ว

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในกลุ่มผู้ประกอบการจะสูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลประมาณ 1% โดยปัจจุบันเอ็นพีแอลสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 3.5% กลุ่มผู้ประกอบการจะอยู่ที่ 4.5% อย่างไรก็ดี การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อสำหรับกลุ่มนี้ ธนาคารไม่ได้เพิ่มความเข้มงวดหรือเพิ่มเกณฑ์จากสินเชื่อส่วนบุคคลปกติ โดยผู้กู้จะต้องมีรายได้และมีความสามารถที่ชำระหนี้ได้ โดยกำหนดให้มีภาระหนี้ต่อรายได้ไม่ควรเกินระดับ 50-55% ซึ่งส่วนใหญ่เฉลี่ยทั้งพอร์ตจะมีภาระหนี้ต่อรายได้ไม่เกิน 35% ทำให้ธนาคารไม่ได้มีความเป็นห่วงมากนัก เพราะยังอยู่ในการควบคุม ปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้ากลุ่มดังกล่าวประมาณ 15% และกลุ่มลูกค้าเงินเดือนประจำ 85% จากยอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท

"เราเริ่มเห็นสัญญาณลูกค้าเอสเอ็มอีชิฟมาใช้สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น อาจเป็นเพราะแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ทำให้ลูกค้าที่ต้องการสภาพคล่องชั่วคราวหันมาใช้สินเชื่อประเภทนี้แทน แต่คนที่ใช้ก็ต้องยอมรับว่าดอกเบี้ยที่คิดจะสูงไปด้วย เพราะเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน แต่ส่วนใหญ่ใช้ไม่เกิน 6-8 เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ดีเราคงไม่มีโปรดักต์โดยเฉพาะมารองรับกลุ่มนี้"

เช่นเดียวกับนางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารมีฐานลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการในพอร์ตประมาณ 5-10% ทั้งในแง่ของวงเงินและจำนวนฐานราย โดยปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลคงค้างประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ฐานลูกค้ากว่า 1 แสนราย เมื่อเทียบขนาดสัดส่วนกลุ่มผู้ประกอบการถือว่ามีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ทำให้อัตราการเข้ามาสมัครในแต่ละเดือนแทบจะไม่มี ประกอบกับในช่วงนี้รัฐบาลและธนาคารพาณิชย์พยายามช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีในเรื่องของแหล่งเงินทุนและอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างถูก จึงยังไม่เห็นสัญญาณการเข้ามาใช้บริการของผู้ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคล ถือเป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภค และเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันหากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยจะค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเอสเอ็มอี โดยลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาจะใช้วงเงินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยที่คิดจะเฉลี่ยตั้งแต่ 24-28% โดยจะพิจารณาตามความเสี่ยงของลูกค้า ขนาดวงเงิน และระยะเวลาการผ่อนชำระ แต่โดยปกติลูกค้ากลุ่มนี้จะผ่อนชำระเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 ปี แต่หากมีรายได้ลูกค้าจะนำเงินมาใช้คืน ขณะที่ความสามารถการผ่อนชำระ ถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างสูงที่จะมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำให้อัตราการอนุมัติสินเชื่อกลุ่มนี้จึงมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยประมาณ 10% โดยที่เอ็นพีแอลจะอยู่สูงกว่าลูกค้าปกติหลายเท่า

"ธนาคารไม่ได้ปิดโอกาสกลุ่มผู้ประกอบการที่จะเข้ามาใช้บริการแต่อย่างใด เพราะเราเป็นสถาบันการเงิน หากลูกค้ามีความต้องการก็พร้อมจะสนับสนุน แต่หลักการพิจารณาการให้สินเชื่อยังคงตามเกณฑ์ในเรื่องของ Risk Base Price เพราะถ้าดูดอกเบี้ยสูง 28% ก็ยังไม่คุมกับความเสี่ยง"

ขณะที่นางสาวสุดาพร จันทร์วัฒนากุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ เคทีซี กล่าวว่า บริษัทไม่มีนโยบายการปล่อยวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับกลุ่มผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก และเป็นกลุ่มที่สามารถใช้บริการกับสถาบันการเงินได้ จึงไม่เน้นให้สินเชื่อกลุ่มนี้ ดังนั้น นโยบายการหาลูกค้าใหม่ของพนักงานเคทีซีจะทราบหลักการข้อนี้ค่อนข้างดี จึงคัดกรองเฉพาะกลุ่มลูกค้าพนักงานเงินเดือนประจำเท่านั้น ทำให้ไม่มีลูกค้ากลุ่มดังกล่าวเข้ามาใช้บริการหรือขอสินเชื่ออย่างใด ส่วนแนวโน้มจะไปใช้กับสถาบันอื่นอาจมีความเป็นไปได้ แต่กลุ่มนี้จะต้องยอมรับในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่จะสูงกว่าการใช้วงเงินแบบผู้ประกอบการธุรกิจหรือเอสเอ็มอีกับธนาคาร

ด้านนายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารเห็นพฤติกรรมการโยกการใช้สินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปสู่สินเชื่อส่วนบุคคลตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เพียงแค่เปลี่ยนพฤติกรรมไปขอสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา เอสเอ็มอี มีการยื่นกู้ขอสินเชื่อทุกกลุ่มที่ขอได้ เช่น ทั้งสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิตต่างๆ เพื่อนำสินเชื่อไปช่วยในด้านสภาพคล่องตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะชะลอตัว

ทั้งนี้ อัตราการอนุมัติสินเชื่อส่วนบุคคลให้เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ ธนาคารจะอยู่ที่ราว 1 ล้านบาท ขณะที่การปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลปีนี้ คาดว่าเติบโตได้ราว 3-4% จากยอดคงค้าง ณ สิ้นปี 2558 ที่อยู่ที่ราว 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีคาดว่าเติบโตได้ราว 5-6% จากยอดคงค้าง สิ้นปีก่อนที่ 5.4 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559