ลุ้นภาษีสรรพสามิตหนุนลูกค้าตัดสินใจซื้อปีนี้

20 ก.พ. 2559 | 02:30 น.
แบงก์-บริษัทลีสซิ่ง มองตลาดรถยนต์ใหม่ยังทรงตัว ประเมินอยู่ที่ 7.35-8.10 แสนคัน ค่าย “กสิกรไทย” โฟกัสกลุ่มบิ๊กไบค์-กระบะ-บรรทุก เตรียมออกแคมเปญจับรถมือสอง ส่วน “ธนชาต”เผยการเปลี่ยนวิธีจัดเก็บภาษีราคาขายปลีกในปีหน้าหนุนลูกค้าตัดสินใจซื้อปีนี้

[caption id="attachment_32118" align="aligncenter" width="475"] พอร์ตคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อ 5 สถาบันหลักเทียบสิ้นปี 2557 และปี 2558 พอร์ตคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อ 5 สถาบันหลักเทียบสิ้นปี 2557 และปี 2558[/caption]

ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนโดยแนวโน้มยอดขายจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 7.35-8.10 แสนคัน โดยมีปัจจัยบวกมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ จะช่วยเพิ่มรายได้กับผู้บริโภคบางส่วน ที่จะส่งผลถึงตลาดรถปิกอัพให้ขยายตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่สดใสเอื้อต่อตลาดรถเช่า อีกทั้งการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะออกมาของค่ายผู้ผลิตทั้งกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์คาร์และรถหรู

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญคือกลุ่มผู้ซื้อรถที่มีศักยภาพ มีโอกาสเปลี่ยนรถใหม่ ทั้งกรณีรถคันแรกที่จะครบ5 ปี ในปีนี้และการเปลี่ยนวิธีจัดเก็บภาษีราคาขายปลีกของกรมสรรพสามิตที่จะมีผลในปีหน้า จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนผู้ซื้อให้ตัดสินใจซื้อในปีนี้ รวมถึงสถาบันการเงินเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อภายหลังจากมีการปรับพอร์ตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากตลาดรถมือสองที่มีแนวโน้มดีขึ้นเพราะราคาขายรถยึดขาดทุนน้อยลงเป็นต้น

ต่อเรื่องนี้นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวโน้มตลาดเช่าซื้อในปีนี้ว่า ถือเป็นปีที่ธุรกิจยังค่อนข้างเติบโตได้ยากเนื่องจากตลาดรถยนต์ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่เค้กยังเป็นก้อนเดิมแต่มีผู้เล่นหลายรายทั้งสถาบันการเงิน บริษัทลีสซิ่งและค่ายผู้ผลิตที่หันมาทำเช่าซื้อด้วย ดังนั้นจะเห็นกิจกรรมทางการตลาดหรือโปรโมชันออกมากระตุ้นการซื้อทั้งในแง่ของการรักษาฐานที่มั่นในกลุ่มลูกค้าเก่าและมุ่งขยายส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) จากคู่แข่ง

สำหรับลีสซิ่งกสิกรไทยปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อสุทธิ 7.37 หมื่นล้านบาทคิดเป็นการเติบโตประมาณ 12% จากปีก่อน คาดว่าภายในสิ้นปียอดคงค้างจะเพิ่มเป็น 9.19 หมื่นล้านบาท เติบโตในอัตรา 1-2% ขณะเดียวกนั จะดูแลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกิน1.91% และประมาณการกำไรไว้ที่ 728ล้านบาท ขณะที่มองตลาดรถยนต์ทั้งปีจะหดตัวประมาณ 4-8% โดยมียอดขายประมาณ 7.35-7.65 แสนคัน ทั้งจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ภาคการส่งออกยังติดลบ ประกอบกับรถยนต์ใหม่มีการปรับราคาขึ้นตามภาษีสรรพสามิตยกเว้นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก

ทั้งนี้ ด้วยจุดแข็งของลีสซิ่งกสิกรไทยที่มีหลายโปรดักต์ให้บริการทั้ง กลุ่มรถใหม่โดยเฉพาะกลุ่มรถจักรยาน ยนต์ขนาดใหญ่ (Big Bike) รถกระบะ รถบรรทุกและสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floorplan)สินเชื่อรถช่วยได้(รถมือสอง) ดังนั้น บริษัทจะเน้นทำตลาดทุกกลุ่มที่มีศักยภาพทั้งร่วมกันระหว่างธนาคารกสิกรไทยในการนำเสนอบริการลักษณะ CrossProduct สู่ฐานลูกค้าทุกกลุ่ม และร่วมกับพันธมิตรค่ายผู้ผลิต ดีลเลอร์ และลูกค้ารถยนต์มือสองที่ต้องการ Refinanceเพื่อเสริมสภาพคล่องกลุ่มนี้ยังสามารถขยายตลาดและเติบโตได้

เช่นเดียวกับนายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ลีสซิ่งกสิกรไทยยังคงสัดส่วนลูกค้ารายย่อยอยู่ที่64% ประกอบด้วยรถใหม่ รีไฟแนนซ์และรถช่วยได้ ที่เหลือเป็นลูกค้าองค์กรธุรกิจในสัดส่วน 36% ประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อการจัดซื้อรถยนต์ในกิจการ และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ทั้งนี้บริษัทพยายามทยอยปรับพอร์ตสินเชื่อต่อเนื่องสู่ลูกค้ารายย่อยจากลูกค้าองค์กรเมื่อปี 2554มีสัดส่วนสูงถึง 77% โดยปีนี้ยังดำเนินนโยบายระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อคุณภาพด้วยอัตราการอนุมัติที่ 70%

ในส่วนของเอ็นพีแอลนั้นคาดว่าปีนี้จะสามารถควบคุมไว้ไม่เกิน 1.91%ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.5% ในปีก่อน สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจและทำให้เกิดการผิดนัดชำระของลูกค้าตั้งแต่ 1-2 เดือนไหลเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถดูแลได้ ขณะที่เอ็นพีแอลในพอร์ตสินเชื่อรถช่วยได้นั้นอยู่ที่ 1.6% เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงโดยคิดดอกเบี้ยที่อัตรา 6-7% ซึ่งยังพอมีโอกาสในการทำกำไร
ด้านนายธีรชาติ จิรจรัสพร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์เช่าซื้อ บมจ.ธนาคารธนชาต กล่าวว่าแนวโน้มตลาดรถยนต์ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวบวกลบ 2%โดยอิงยอดขายรถยนต์ใหม่เป็นหลัก อยู่ระหว่าง 7.85-8.1 แสนคันโดยปัจจัยบวกนอกจากรอความชัดเจนจากโครงการลงทุนภาครัฐหากเป็นรูปธรรมจะช่วยหนุนตลาดรถปิกอัพขยายตัวดีขึ้น หรือค่ายผู้ผลิตรถหรูที่จะทยอยออกมา บวกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์คาร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงโอกาสที่กลุ่มมีกำลังซื้อจะเปลี่ยนรถใหม่ทั้งจากรถคันแรกครบ 5 ปีและมาตรการภาษีใหม่ราคาขายปลีกจะเร่งลูกค้าตัดสินใจซื้อรถในปีนี้

ขณะที่สถาบันการเงินเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อภายหลังจากมีการปรับพอร์ตที่ดีขึ้น เป็นผลมาจากรถยนต์มือสองมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยราคาประมูลรถยึดมีผลขาดทุนน้อยลง และขายได้จำนวนเยอะขึ้น สะท้อนดีมานด์ตลาดรถยนต์มือสองดีขึ้น ทำให้สถาบันการเงินปรับตัวในการให้สินเชื่อ เช่น มีรถยนต์ยึด 100 คัน จากเดิมขายได้ 50 คัน ปัจจุบันขายได้ 70-80คัน เป็นต้น ส่วนปัจจัยลบ จะเป็นเรื่องของโครงสร้างภาษีใหม่ ภาวะรายได้เกษตรกรตกตํ่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจึงไม่เอื้อต่อการได้รับอนุมัติสินเชื่อ และปัญหาภัยแล้ง

“ความสามารถชำระหนี้ไม่ได้ปรับตัวดีกว่าปีก่อน แต่ธนาคารมีการปรับพอร์ต และโฟกัสไปยังเซ็กเมนต์ระดับบนและระดับกลาง ทำให้มีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อน้อย และปีนี้จะเห็นแบงก์หันมาปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพราะพอร์ตที่ถูกกระทบจากหลายปีก่อนได้มีการปรับสมดุลเรียบร้อยแล้ว”

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์กลุ่มธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องจากปีก่อน ด้วยปัจจัยที่รัฐบาลประกาศให้เป็นปีแห่งการลงทุนที่มีมูลค่ากว่า 1.78ล้านล้านบาท รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ภาพรวมความต้องการสินเชื่อรถยนต์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามปัจจัยเสริมต่างๆ ซึ่งในส่วนของสถาบันการเงินยังคงให้ความระมัดระวังในการให้สินเชื่อโดยในส่วนของกรุงศรี ออโต้ จะพิจารณาการให้สินเชื่อที่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการเน้น “ดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง” เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคดิจิตอล โดยจะมีการสื่อสารกับลูกค้าด้วยแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559