กก.ปฏิรูปทรัพยากร หนุนยกเลิก 3 สารอันตราย

14 ก.ย. 2561 | 09:23 น.
กก.ปฏิรูปด้านทรัพยากรฯ หนุนยกเลิก 3 สารอันตราย "พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต" ในภาคเกษตร แนะปรับปรุง ก.ม.วัตถุอันตราย 3 ประเด็น ปรับโครงสร้างกรรมการ-ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราศจากประโยชน์ทับซ้อน-เพิ่มอนุฯจัดประเภทวัตถุอันตราย

นายรอยล จิตรดอน ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหนังสือถึงประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ลงวันที่ 12 ก.ย. 2561 เรื่อง "การสนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารพิษในภาคการเกษตร" สรุปใจความว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ สนับสนุนให้ยกเลิกสารเคมีในภาคเกษตร ได้แก่ สารพาราควอต, คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางและขั้นตอนในการดำเนินการยกเลิกนั้น ควรพิจารณาให้เหมาะสมบนพื้นฐานของการรักษาความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรให้มีการพิจารณาการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่กําหนดโครงสร้างองค์กร กระบวนการ กำหนดตัดสินใจระดับนโยบาย และระบบการบริหารจัดการ สารเคมีการเกษตรและวัตถุอันตรายประเภทต่าง ๆ ของประเทศไทย

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเนื้อหาบทบัญญัติส่วนสําคัญที่ควรมีการปฏิรูปเพื่อมิให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกับกรณีการยกเลิกสารเคมีการเกษตร 7 ชนิด ได้แก่

1.การปรับปรุงโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และอนุกรรมการ เพื่อป้องกันและขจัดปัญหาการขัดแย้งของผลประโยชน์

2.สําหรับกรณีสารป้องกันและกําจัดศัตรูพืช ควรกําหนดให้มีโครงสร้างคณะอนุกรรมการขึ้น 40 คณะ ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ อาทิ คณะอนุกรรมการจัดทําบัญชีรายชื่อ จัดประเภท และจัดทําแผนกํากับดูแลสารป้องกันและกําจัดศัตรูพืช โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นประธานอนุกรรมการ, คณะอนุกรรมการขึ้นทะเบียนสารป้องกันและกําจัดศัตรูพืช โดยให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน, คณะอนุกรรมการจัดทํา รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสารป้องกันและกําจัดศัตรูพืช โดยให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรหรือผู้แทนเป็นประธาน

3.เพิ่มเติมกําหนดหลักการสําคัญเกี่ยวกับกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งอนุกรรมการต่าง ๆ ไว้ในร่างกฎหมาย เพื่อใช้เป็นหลักการในการกําหนดรายละเอียดของประกาศที่จะกําหนดขั้นต่อไป โดยควรมีหลักการสําคัญเกี่ยวกับการกําหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนต่อการทําหน้าที่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และอนุกรรมการ การไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งในการทําหน้าที่ กระบวนการแต่งตั้งที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และมีแนวทางป้องกันการแอบแฝงเข้ามาเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการของผู้ประกอบการธุรกิจสารเคมีหรือวัตถุอันตราย

ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ด้านสังคม และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรร่วมกันจัดทําหนังสือข้อเสนอต่อการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ .) พ.ศ. .... ไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อการปรับปรุงร่างกฎหมายต่อไป


e-book-1-503x62-7