TFFIF โชว์ศักยภาพทรัพย์สิน ลุยโรดโชว์ก่อนเทรด Q4 ปีนี้

14 ก.ย. 2561 | 07:50 น.
Thailand Future Fund (TFFIF) เดินหน้าเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิการรับรายได้จากค่าผ่านทาง 45% ของรายได้ค่าผ่านทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีของ กทพ. เป็นระยะเวลา 30 ปี โชว์ศักยภาพรายได้ 2 เส้นทางย้อนหลัง 3 ปี โตเฉลี่ยปีละ 5% ตั้งเป้าระดมทุนนำมาก่อสร้างทางพิเศษสายใหม่ พร้อมเดินหน้าโรดโชว์ให้ข้อมูลแก่นักลงทุนไทย-ตปท. เริ่มวันที่ 24 ก.ย. ถึง 8 ต.ค. 61 ก่อนเทรดไตรมาส 4 ปีนี้


Photo TFFIF 130920108 (1)


นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFFIF) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใช้เป็นแหล่งเงินทุนทางเลือก ทำให้สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน เงินกู้

โดยโครงการนำร่อง รัฐบาลจะนำทรัพย์สินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งเป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่มั่นคงและมีโอกาสเติบโตในอนาคต เพื่อให้กองทุน TFFIF เข้าลงทุนครั้งแรก โดยจะเข้าลงทุนในสิทธิในการรับรายได้ค่าผ่านทางพิเศษที่ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษ 2 เส้นทาง ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ได้แก่ ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี รวมระยะทาง 83.2 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากวันที่กองทุนเข้าทำสัญญากับ กทพ. โดย กทพ. ยังคงเป็นผู้บริหารจัดการและเป็นเจ้าของทางพิเศษดังกล่าว

นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่าเงินที่ กทพ. ได้รับจากการโอนสิทธิในรายได้ของทางพิเศษดังกล่าว กทพ. จะนำไปใช้ลงทุนพัฒนาทางพิเศษ 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.โครงการทางพิเศษพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก คาดจะเริ่มก่อสร้างช่วงต้นปี 2562 และ 2.โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และ E-W Corridor ด้านตะวันออก อยู่ระหว่างการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยและแบ่งเบาภาระทางการคลังของรัฐบาล

นายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวเสริมว่า ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนฯ จะลงทุนในครั้งแรกนั้น ได้แก่ สิทธิในรายได้ในอนาคตร้อยละ 45 ของทางพิเศษฉลองรัชและบูรพาวิถี เป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่งทางพิเศษทั้ง 2 สายเปิดให้บริการมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจราจรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กองทุนนี้ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหรือเงินลงทุนใด ๆ เพื่อซ่อมแซมทางพิเศษดังกล่าว โดย กทพ. จะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

"รายได้จาก 2 เส้นทางดังกล่าว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ยปีละ 5% และรายได้ในอนาคตยังมีโอกาสเติบโตสูง ทั้งจากเส้นทางที่จะขยายอีก 4 เส้น คือ ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N 1 (แคราย-แยกเกษตร) , ตอน N2 (ประเสริฐมนูกิจ )E-W Corridor , ทางด่วนฉลองรัชสระบุรี , ทางด่วนพระราม 3 ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก (กาญจนาภิเษก) เป็นเครือข่ายที่จะช่วยเพิ่มการขยายจราจรเข้ามาในทางพิเศษ 2 เส้นทางดังกล่าว นอกจากนี้ มติ ครม. ให้ทำการศึกษาที่จะให้กองทุนเข้าไปลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม อาทิ ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9"

ความคืบหน้าของกองทุน TFFIF ได้ยื่นแบบ Filing ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งภายหลังได้รับการอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนกองทุนฯ จะดำเนินการกำหนดวันที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อหน่วยลงทุนต่อไป และคาดว่าจะนำหน่วยลงทุนของ TFFIF เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

นายตรัยรักษ์ เต็งไตรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวาณิชธนกิจและตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (บมจ.)ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า จุดเด่นของกองทุน TFFIF คือ รัฐบาลและกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ โดยรัฐจะถือหุ้นอย่างน้อย 10% เป็นระยะเวลา 5 ปี จึงเป็นกองทุนที่มีศักยภาพ จากแนวโน้มการนำทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเข้ามาระดมทุนต่อยอดเพิ่มสภาพคล่องให้กับกองทุนนี้

ด้าน นายเอกภพ เมฆกัลจาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน บมจ.ธนาคารกรุงไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า กองทุน TFFIF จะเสนอหน่วยลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยสัดส่วนรายย่อยจะมากกว่าสถาบัน โดยจะใช้วิธีการจองซื้อแบบ Small Lot First ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. หรือ การจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไปทุกราย ตามจำนวนหน่วยจองซื้อขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในรอบแรก และวนไป ๆ รอบละเท่ากัน จนกว่าจะครบตามจำนวนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนที่สนใจมีสิทธิ์จองซื้อหน่วยลงทุนและได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้จะจัดกิจกรรมโรดโชว์พบนักลงทุนในกรุงเทพฯ ตามหัวเมืองภูมิภาคและในต่างประเทศ เริ่มวันที่ 24 ก.ย. ถึง 8 ต.ค. 2561 นี้

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการ กล่าวว่า จุดเด่นของกองทุน TFFIF คือ การลงทุนครั้งแรกนั้นได้คัดเลือกทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีคุณภาพ มีศักยภาพการดำเนินงานถึง 20 ปี การเติบโตของกองทุนจึงมีแนวโน้มเติบโตไปตามการจราจรและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้รถบนทางพิเศษ 2 เส้นนี้ จากตัวเลข 3 ปีแรก มีรายได้เฉลี่ยเติบโตปีละ 5% และรายได้ที่จะเพิ่มจากการปรับขึ้นค่าทางด่วนทุก ๆ 5 ปี ตลอดจนการรับรู้รายได้หากมีการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมในทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และ 9

อนึ่งข้อมูลจาก กทพ. ทั้ง 2 เส้นทาง คือ ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถี มีรายได้รวมกันเมื่อปี 2560 ประมาณ 4,999 ล้านบาท และ 9 เดือนแรกปีนี้ มีรายได้อยู่ที่ 3,800 ล้านบาท

ด้าน น.ส.ประภา ปูรณโชติ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการ กล่าวว่า กองทุน TFFIF ถือว่ามีความน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอจากการได้รับเงินปันผลจากกองทุน (กำหนดจ่ายปีละ 2 ครั้ง) และน่าจะให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน แต่มีความผันผวนต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น นอกจากนี้ นักลงทุนรายย่อย (บุคคธรรมดา) จะได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนฯ อีกด้วย


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว