ACT กระทุ้งรัฐมนตรีเกษตร!! เลิกสารเคมีร้ายแรง-จี้เผยชื่อใครได้ประโยชน์

12 ก.ย. 2561 | 07:54 น.
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันออกจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.เกษตรฯ ขอให้ยุติการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรอันตรายร้ายแรงทั้งหมดในทันที และสอบสวนเชิงลึกว่า มีการเอื้อประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักธุรกิจสารพิษเพื่อการเกษตรหรือไม่

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 เพจองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทำถึง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   เรื่อง การใช้สารพิษในการเกษตรที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อประชาชน

โดยในจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า เนื่องจากมีความวิตกกังวลในหมู่ประชาชนอย่างมากในขณะนี้ ว่า รัฐจะปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างไร เมื่อพบว่า ทุกวันนี้อาหารและพืชผลการเกษตรมีสารพิษตกค้างจำนวนมาก อันเป็นผลจากการใช้พาราควอตและสารพิษเพื่อการเกษตรอื่น แต่ก็ยังปล่อยให้มีการจำหน่ายและใช้ทั่วไปในปริมาณมหาศาล แม้นักวิชาการด้านการแพทย์ นักวิจัย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรฯ จะออกมาให้ข้อมูลคัดค้านอย่างต่อเนื่อง



จดหมายเปิดผนึก


องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ขอสนับสนุนท่าทีของ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา นักวิจัยอาวุโส รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมและนักวิจัยอีกจำนวนมาก ที่ต้องการเห็นคนไทยมีสุขภาพดี แผ่นดินไทยปราศจากสารพิษ ด้วยการหยุดใช้สารเคมีเพื่อการเกษตรที่เป็นอันตรายร้ายแรงทั้งหมดในทันที และขอเสนอแนวทางต่อรัฐบาล 3 ข้อ ดังนี้

1.ในการพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2561 ขอให้ยึดเอาสุขภาพที่ดีของประชาชน สำคัญกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้าและให้นำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคณะต่าง ๆ ทั้งด้านสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะทำงานสารที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข มาใช้ประกอบการตัดสินใจ



พ่นยา


2.ควรเปิดเผยรายชื่อเอกชนที่มีผลประโยชน์ทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น ไทยหรือต่างชาติ เพื่อความโปร่งใส และสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ เช่น ดีเอสไอได้สอบสวนเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของบุคคลในคณะกรรมการวัตถุอันตราย อนุกรรมการ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ต่อทะเบียนกับนักธุรกิจสารพิษเพื่อการเกษตร ว่า มีพฤติกรรมที่ฉ้อฉล หรือ มีการเอื้อประโยชน์กันหรือไม่

3.ควรแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฯ โดยเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนและหน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งควรให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาตัดสินใจ



รถเกี่ยวข้าว


ในตอนท้ายของจดหมายเปิดผนึก ยังระบุว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นว่า เพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชน รัฐบาลควรให้ยุติการใช้งานสารพิษร้ายแรงเหล่านี้ จนกว่าผู้จำหน่ายจะสามารถหาข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ไม่เป็นพิษกับประชาชน


e-book-1-503x62