เตือนสงครามการค้าฉุดศก.โลกชะลอแรง

12 ก.ย. 2561 | 09:08 น.
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยังคงยืนยันเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าสหรัฐฯ พร้อมที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนระลอกใหม่ คิดเป็นมูลค่ารวม 267,000 ล้านดอลลาร์ หรือกล่าวได้ว่า ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนทุกรายการในเร็ววัน เพิ่มเติมจากเดิมที่ขู่ไว้ก่อนหน้านี้ 200,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้สถานการณ์การเผชิญหน้าทางการค้ายังคงทวีความตึงเครียด และนักเศรษฐศาสตร์ก็เริ่มออกโรงเตือนว่า ถ้าหากทั้ง 2 ฝ่ายยังดำเนินนโยบายการค้าเช่นนี้ต่อไป อาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมลดลงอย่างฮวบฮาบ

แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะดูว่าแข็งแรงดีอยู่ในปีนี้ แต่สำหรับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก สัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเริ่มมีมาให้เห็นแล้วตั้งแต่ต้นปี แนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมของปีนี้ แตกต่างไปจากในปี 2560 ที่เศรษฐกิจโลกมีความแข็งแรงและสอดคล้องสัมพันธ์กัน สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนแปลงและแตกต่างในปีนี้คือ ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นอันเกิดจากสงครามการค้านั่นเอง โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่สร้างความหวั่นวิตกให้กับบรรดานักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในเวลานี้

อะแดร์ เทิร์นเนอร์ อดีตประธานสำนักงานคณะกรรมการด้านบริการทางการเงิน (เอฟเอสเอ) ของอังกฤษ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่าจับตาคือมาตรการของสหรัฐอเมริกาที่สุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้ต้องมีการ
ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ และนั่นก็อาจจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯชะลอตัวอย่างฉับพลัน

trade2 ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปทางฝั่งของจีน รัฐบาลจีนกำลังพยายามสร้างสมดุลให้กับโครงสร้างเศรษฐกิจ เน้นกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ แทนการลงทุนในรูปการก่อสร้างโครงการต่างๆ ซึ่งนั่นก็จะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นกัน

เมื่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นพร้อมๆ กันใน 2 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับการชะลอตัวในยุโรป โดยเฉพาะที่อิตาลี ก็มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมากภายในปีค.ศ. 2020 หรือพ.ศ. 2563

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้เช่นกันที่สงครามการค้าครั้งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้จีน ยิ่งมีความแข็งแกร่งมากขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ เอริค ฟิชวิค หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจากสถาบันซีแอลเอสเอให้ความเห็นบนเวทีสัมมนา อินเวสเตอร์ ฟอรัม ที่ฮ่องกงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แรงกดดันจากสหรัฐฯจะทำให้จีนหันไปพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมไฮเทค ที่กำลังถูกสหรัฐฯกดดันด้วยมาตรการด้านภาษีอยู่ในขณะนี้

ไม่เพียงเท่านั้น แรงเหวี่ยงของสหรัฐฯที่มีต่อประเทศคู่ค้าที่เคยเป็นพันธมิตรจะทำให้จีนมีโอกาสเข้าไปสร้างอิทธิพลแทนที่สหรัฐฯมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสร้างอิทธิพลผ่านนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นการสร้างสัมพันธ์ผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุนด้วย

ทั้งนี้ สถิติล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ว่า จีนยังคงได้ดุลการค้าสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น และทำสถิติใหม่มากเป็นประวัติการณ์ที่ 31,050 ล้านดอลลาร์ จากเดิมที่อยู่ในระดับ 28,090 ล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม และเมื่อพิจารณาภาพรวมในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2561 นี้ พบว่า จีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯเพิ่มขึ้นเกือบๆ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

................................................................................................

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3400 | ระหว่างวันที่ 13 - 15 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว