เศรษฐเสวนาจุฬาฯทัศนะ | ส่องกล้องการเงินอิสลาม ด้วยหลักเศรษฐศาสตร์

08 กันยายน 2561
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินหรือสงสัยว่า ทำไมอิสลามถึงห้ามเรื่องดอกเบี้ย การให้กู้ยืมเงินโดยการเก็บดอกเบี้ย หรือที่เรียกว่า ริบา (Riba) อันหมายถึง ส่วนเกิน (Excess) ถือเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมตามหลักศาสนาอิสลาม เนื่องจากเงินไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากตัวมันเอง แต่ถูกสร้างเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน การกำหนดผลตอบแทนของการกู้ยืมเงินไว้ล่วงหน้าแบบคงที่ (Fixed ex-ante) หรือดอกเบี้ยตามความหมายของการเงินทั่วไป จึงไม่สามารถกระทำ ได้ ถ้าเช่นนั้นการออมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

ภาพบทความหน้า 7

การออมเงินตามหลักศาสนาอิสลามยังสามารถกระทำได้ใน 2 รูปแบบ คือ

1. บัญชีเงินฝากที่ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ จากการฝากเงิน เป็นเพียงบัญชีรักษาทรัพย์ที่ผู้ฝากไม่อนุญาตให้ธนาคารนำเงินฝากของตนไปลงทุน

และ 2. บัญชีเงินฝากที่ได้รับผลตอบแทน หรือเรียกว่าบัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุน (Investment Account) โดย บัญชีประเภทนี้จะมีข้อตกลงว่า ผู้ฝากอนุญาตให้ธนาคารสามารถนำเงินฝากของตนไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนได้ โดยผ่านสัญญารูปแบบต่างๆ อาทิ สัญญาการขายแบบบวกกำไรที่ทั้ง 2 ฝ่าย
ได้ตกลงกันไว้ หรือสัญญาที่ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมทุนเป็นหุ้นส่วนกัน หรือสัญญาที่เจ้าของทุน (ผู้ลงทุน) มีส่วนร่วมเฉพาะเงินทุนเท่านั้น เมื่อธุรกิจมีกำไรจะนำผลกำไรแบ่งกันตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนเหล่านี้ไม่ได้ถูกกำหนดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนไว้ล่วงหน้า แต่จะขึ้นกับผลกำไรขาดทุนของธนาคาร

หากมองในทางทฤษฎีแล้ว แนวคิดของการเงินอิสลามที่ยึดหลักชาริอะห์เป็นกรอบในการดำเนินธุรกรรมทางการเงิน มีความใกล้เคียงและสอดคล้องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเป็นอย่างมาก และอาจจะมากกว่าการเงินทั่วไปเสียอีก
1D5EB349D4944BFCADC8BE84D590B581 ระบบการเงินทั่วไป(conventional finance) ที่มีพื้นฐานจากอัตราดอกเบี้ย ให้ความสำคัญกับความสามารถในการจ่ายคืนเงินกู้ ดังนั้นจึงมุ่งไปที่ตัวสิน ทรัพย์คํ้าประกัน (Collateral) ภายใต้กรอบนี้ คนรวยจะเป็น กลุ่มที่เข้าถึงทรัพยากรทางการเงินได้มากกว่า ในทางตรงกันข้าม การเงินอิสลามให้กู้ยืมโดยมีพื้นฐานของการปันส่วนกำไร จึงให้ความสำคัญกับผลตอบแทนมากกว่าหลักทรัพย์คํ้าประกัน  คนที่แม้จะไม่มีสินทรัพย์แต่มีโครงการลงทุนที่ดี ก็จะได้รับโอกาสมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งทุนภายใต้ระบบการเงินอิสลาม

อาจกล่าวได้ว่าการเงินอิสลามส่งเสริมให้เกิดการกระจาย รายได้ที่ดีกว่าการเงินทั่วไป และช่วยให้เกิดการปันความเสี่ยงที่กว้างขวางขึ้น เนื่องจากธนาคารอิสลามทำให้ผู้ออมเงินกับธนาคารมีส่วนร่วมปันความเสี่ยงกับ ธนาคารในการเลือกลงทุนในโครงการลงทุนที่ดี และให้ผู้ออมเงินสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจลงทุนของธนาคาร และอนุญาตให้ธนาคารเข้าไปมีบทบาท ในกระบวนการตัดสินใจของผู้ประกอบการ

ความเสี่ยงและการตัดสินใจจึงกระจายไปยังกลุ่มคนจำนวนมากที่มีความหลากหลายมากขึ้น ความเกี่ยวข้องกันทางเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ จึงกว้างขวางขึ้น นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีระดับของธรรมาภิบาลที่สูงขึ้นและสามารถรับมือกับความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่างๆ (Shock) ได้ดียิ่งขึ้น

การที่ธนาคารอิสลามคํ้าประกันเฉพาะเงินฝากเผื่อเรียก ขณะที่เงินฝากเพื่อการลงทุนจะถูกแทนที่ด้วยการปันส่วนกำไรและขาดทุน เมื่อธนาคารเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้ลงทุนในเงินฝากเพื่อการลงทุนก็จะแบกรับความเสี่ยงนั้นร่วมกันอัตโนมัติ ทำให้การล้มของธนาคารเกิดขึ้นยากมาก และเนื่องจากการเงินอิสลามห้ามการแลกเปลี่ยนเงินปัจจุบันกับเงินอนาคต ดังนั้น การเคลื่อนย้ายของเงินในการเงินอิสลามจะถูกอิงกับการเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการเสมอ
1D5EB349D4944BFCADC8BE84D590B581 กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเงินอิสลามสามารถลดการแยกส่วนระหว่างภาคการเงินกับภาคเศรษฐกิจจริงได้ เพราะเงินกู้ของธุรกิจที่ได้จากสถาบันการเงินอิสลามได้ถูกระบุการนำไปใช้อย่างเฉพาะเจาะจง การเก็งกำไรที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์ อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น จึงเป็นไปได้ยากที่จะเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนขนาดใหญ่ในทันทีทันใดเหมือนกับที่เกิดขึ้นในภาคการเงินแบบทั่วไปผ่านตลาดหุ้นหรือพันธบัตรที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งระดับประเทศและระดับโลก นำไปสู่การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศระยะสั้น ที่ส่งผลให้เกิดความผันผวนใน ระบบเศรษฐกิจได้ การเงินอิสลามจึงช่วยควบคุมการสร้างเครดิตแบบสุดโต่ง (Excessive Credit) และก่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจได้มากกว่า

นอกจากนี้การเงินอิสลามยังสามารถลดระดับความยากจนได้ดีกว่า อาทิ การจ่ายซะกาต ซึ่งเป็นบทบัญญัติทางกฎหมายอิสลามให้บุคคลและนิติบุคคลมุสลิมที่มีทรัพย์สินถึงพิกัดที่กำหนด ต้องจ่ายทรัพย์สินดังกล่าวออกไปในอัตราที่กำหนดไว้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายความมั่งคั่งในทรัพย์สินและรายได้ไปยังกลุ่มบุคคลที่ยากไร้ขัดสน เป็นหลักเฉพาะในการเงินอิสลามที่ช่วยลดปัญหาความยากจน และส่งเสริมความเสมอภาคในสังคมที่การเงินทั่วไปไม่มี

กล่าวโดยสรุป การที่การเงินอิสลามเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ที่เป็นเจ้าของทุนและผู้ประกอบการ การดำเนินงานจึงเป็นระบบอัตรากำไรและการให้กู้แบบปันผลกำไรด้วยผลต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุน (Mark-up)

และระบบการปันส่วนความเสี่ยงทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สิน เมื่อธนาคารเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ ผู้ลงทุนในเงินฝากเพื่อการลงทุนกับธนาคาร ก็จะร่วมแบกรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จึงสามารถช่วยป้องกันการล่มสลายของธนาคารหรือสถาบันการเงินได้มากกว่าระบบการเงินทั่วไป ซึ่งก่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบธนาคารโดยรวมมากขึ้น

……………………………………………………………….

| คอลัมน์ | เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ
|โดย ผศ.ดร.มนชยา อุรุยศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
| หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3399 ระหว่างวันที่ 9 - 12 กันยายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว