เคาะพรฎ.เวนคืนแนวรถไฟสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ฉบับที่2

06 ก.ย. 2561 | 11:55 น.
ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนแนวรถไฟสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับที่2 หลังรฟม.เวนคืนได้ไม่ถึง50% ด้านกระทรวงเกษตรแนะคำนึงผลกระทบการระบายน้ำ ด้านสำนักงบฯให้ประเมินความคุ้มค่า

map_eng_3

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ในท้องที่อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และเขตหลักสี่ เขตบางเขน เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้  และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

 

สาระสำคัญของเรื่องของร่างพระราชกฤษฎีการวม 2 ฉบับ เป็นการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน และกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชน ตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ซึ่งพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับจะสิ้นสุดการใช้บังคับในวันที่ 24 ธันวาคม 2561 แต่การสำรวจอสังหาริมทรัพย์และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ยังไม่แล้วเสร็จ และมีบางพื้นที่อยู่ระหว่างการพิจาณาแก้ไขปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับแนวเขตทางที่ยังไม่ได้ข้อยุติ อันทำให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาใช้บังคับของพระราชกฤษฎีการวม 2 ฉบับดังกล่าว

 

“ที่ผ่านมารฟม.ได้ดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายดังกล่าวเมื่อเดือนพ.ย. 2559 และมีการแก้ไขแบบแนวเขตล่าสุดเมื่อ 18 ม.ค. 2561 มีที่ดินอยู่ในแนวเขตเวนคืนจำนวน 54 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 613 หลัง มีผู้ถูกเวนคืนมาตกลงทำสัญญาแล้ว 203 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 278 หลัง และรฟม.ได้วางเงินค่าทดแทนแล้ว 18 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 22 หลัง เหลือผู้ถูกเวนคืนที่ยังไม่มาตกลงทำสัญญา 313แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 313 หลัง และมีบางพื้นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขปัญหาการร้องเรียนที่ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องแนวทางเขตทางหลายบริเวณซึ่งรฟม.ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ได้ทันภายในกำหนดระยะเวลา”

 

อย่างไรก็ตามในมติครม. ได้มีความเห็นจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเห็นว่ากระทรวงคมนาคมควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาผลกระทบด้านการระบายน้ำภายหลังจากการก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการระบายน้ำในพื้นที่บริเวณดังกล่าว  ด้านสำนักงบประมาณเห็นว่ารฟม.ควรจะประเมินความคุ้มค่า ต้นทุนที่เหมาะสมและผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่ทางราชการและประชาชนจะได้รับรวมทั้งความเสี่ยงและภาระเพิ่มเติมที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ให้รฟม.ดำเนินการในปี 2560 และ 2561  รวม 5,972.48 ล้านบาท