เปิดใจGEN2 สร้างโมเมนตัม 'ดาษดา' เที่ยวได้ตลอดทั้งปี

15 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
กว่า 6 ปี ของการพัฒนาพื้นที่กว่า 900 ไร่ของโครงการดาษดา แกลเลอรี่ จนขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กล้วยไม้ฟาแลนนอฟซิส ที่ส่งออกไปขายยังประเทศญี่ปุ่นเป็นรายใหญ่ที่สุดแล้ว ปัจจุบันพื้นที่นี้ได้ถูกต่อยอด เพื่อสร้างชื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของ จังหวัดปราจีนบุรี ที่มีทั้งการจัดแสดงดอกไม้ โรงแรมภายใต้ชื่อ ดาษดา เดอะ ฟลาวเวอร์ เอสเซ้นส์ รีสอร์ท และแผนในการลงทุนต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อ่านได้จากสัมภาษณ์นางสาวสุวดี บุญตานนท์ หรือคุณฟาง หลานสาวซึ่งเป็นทายาทของผู้ก่อตั้งดาษดา แกลเลอรี่ ที่ได้เข้ามาดูแลการบริหารงานในโครงการดาษดาเต็มตัวอยู่ในขณะนี้

[caption id="attachment_31257" align="aligncenter" width="500"] ดาษดา ดาษดา[/caption]

ดันธุรกิจเลี้ยงตัวเอง

คุณสุวดี ฉายภาพถึงความเป็นมาของการพัฒนาพื้นที่ของดาษดา ว่า จุดเริ่มแรกที่คุณลุง "ดร.ปวเรศ บุญตานนท์" (ผู้ดำเนินธุรกิจ PSP Group กลุ่มธุรกิจคลังน้ำมันและโรงผลิตน้ำมันหล่อลื่นจาระบีรายใหญ่ของประเทศไทย)ได้เข้ามาซื้อที่ดินที่นี่ ตอนแรกคิดจะทำเป็นที่พักผ่อนของครอบครัว ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ ทยอยซื้อที่ดินเก็บมาเรื่อยๆจนปัจจุบันมีพื้นที่เกือบ 900 ไร่ ซึ่งการปลูกต้นไม้ ก็เริ่มจากความชอบ จึงปลูกกล้วยไม้ฟาแลนนอฟซิสเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เพิ่มขยายสายพันธุ์ปลูกดอกไม้อื่นๆอย่างดอกเยอบีร่า คาร่าลิลลี่ ดอกเบญจมาศ ดอกหน้าวัว ก็ลองผิดลองถูกมา จนปลูกและส่งออกขายได้ดีมาก ภายใต้ชื่อบริษัทดาษดา บลอสซั่ม จำกัด

รวมถึงการเปิด "ดาษดา แกลเลอรี่" ซึ่งเป็นส่วนจัดแสดงพันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาว ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมและมาท่องเที่ยว เปิดมาร่วม 6-7 ปีแล้ว และพอคนมาเที่ยวก็ไม่มีที่พัก ก็เลยเป็นที่มาของการเปิดตัว "ดาษดา เดอะ ฟลาวเวอร์ เอสเซ้นส์ รีสอร์ท" ซึ่งเป็นธุรกิจรีสอร์ต ขนาด 82 ห้อง เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ในนามบริษัท ดีเอสดี ไลฟ์สไตล์ โมทีฟ จำกัด รวมแล้วที่ผ่านมาโครงการที่นี่ลงทุนไปแล้วร่วม 1 พันล้านบาท

เธอ เล่าว่า จากการสั่งสมประสบการณ์กับที่นี่มาตั้งแต่เด็ก ผ่านการโค้ดของดร.ปวเรศ และการได้เข้ามามีส่วนช่วยงานที่เกี่ยวกับการตัดสินใจในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ในการตกแต่งห้องพักและแลนด์สเคปของโรงแรม ที่นำดอกไม้มาเป็นกิมมิกในการตกแต่ง หรือแม้แต่เมนูอาหารดอกไม้ ที่เสิร์ฟในห้องอาหารบลูม เพราะดร.ปวเรศ บอกเธอว่าถ้าเรื่องก่อสร้างไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเรื่องสวยงามทำไม่เป็น งานนี้เธอเลยได้แสดงฝีมือไปเต็มๆ ก็ทำให้เธอรู้สึกอินกับดาษดามาตั้งแต่เด็ก และเมื่อหลังเธอเรียนจบปริญญาโท จากประเทศอังกฤษ ก็ได้เข้ามาดูแลการบริหารธุรกิจนี้อย่างเต็มตัวรองจากดร.ปวเรศ นั่นเอง

" การเข้ามาบริหารงานที่นี่ คุณลุงไม่ได้ซัพพอร์ตว่านี่เป็นหลานแล้วให้คนมายอมรับ แต่ให้เราต้องสร้างตัวเองให้เป็นที่ยอมรับกับพนักงานนับกว่า 100 คน และบางคนก็ทำงานมาร่วม 30-40 ปี ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เกิดการยอมรับคือต้องทำงานให้เห็นเป็นผลงาน ควบคู่กับการทำให้นักท่องเที่ยวมาแล้วมีความสุข สร้างโมเมนตัมให้คนรู้จักดาษดาตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่การจัดงานเทศกาลดอกไม้ในช่วง 3 เดือน จริงอยู่ที่การลงทุนที่ผ่านมาเป็นการทำด้วยใจ ไม่ได้ซีเรียสเรื่องกำไร-ขาดทุน แต่ก็อยากให้ต่อไปมันเลี้ยงตัวเองได้ การจัดงานอีเวนต์ด้านดอกไม้ มีรายได้เข้ามาให้คุ้มทุนหรือเพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่เราต้องการ"
สำหรับหนึ่งในผลงานที่ทำให้เธอเป็นที่ยอมรับคือ การจัดงานเทศกาลดอกไม้ ในช่วง 3 เดือนของทุกปี ซึ่งถือเป็นช่วงที่มีคนมาเที่ยวดาษดามากที่สุด เทศกาลนี้จัดมาร่วม 6-7 ปีแล้ว และ 2 ปีแรกเป็นแค่การเปิดให้เฉพาะลูกค้ามาเข้าชม จากนั้นก็เป็นการเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่เมื่อการจัดงานในช่วงที่เธอเข้ามาเป็นแม่งาน ก็มีกระแสตอบรับที่ดี และได้ครูกอล์ฟ –พิทักษ์ หังสาจะระ นักออกแบบและจัดดอกไม้ชื่อดังมาร่วมสร้างสรรค์งานในเทศกาลดอกไม้ โดยในปี2557 มีผู้เข้าชมงานกว่า 1.12 แสนคน ปี2558 คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานราว 1.5-1.8 แสนคน รวมถึงขณะนี้เธอก็มองไปถึงธีมการจัดงานในปี2559แล้ว ที่เธอมองไว้ถึง 2 แสนคน

เน้นสร้างมูลค่าเพิ่ม

เธอเล่าว่าการจัดงานเทศกาลดอกไม้หลักๆต้องสร้างสรรค์ให้สวยงาม เพราะหลักๆคนมาเที่ยวดาษดา ต้องการถ่ายรูปสีสันดอกไม้ ส่วนคนจัดก็อยากทำอะไรเต็มที่ ดังนั้นทุกอย่างต้องทำให้เกิดตรงกลางให้ได้ รวมถึงการสรรหาเทคนิคต่างๆเข้ามาสร้างสีสันในการจัดงาน อย่าง การจัดเทศกาลดอกไม้ที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ก็เป็นครั้งแรกของการแสดงดอกไม้ในห้องมืด โดยใช้เทคนิค Mapping และทำให้การจัดงานในแต่ละปีจะมีธีมหรือรูปแบบที่ไม่เหมือนกันทำให้คนอยากมาเที่ยวทุกปี ทำให้คนมาเที่ยวรู้สึกคุ้มค่า จากการสร้างมูลค่าเพิ่มเข้าไปในงานที่ทำ ซึ่งการจัดงานทางดาษดาเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด ไม่ได้ใช้ออร์แกไนเซอร์ในการจัดงานแต่อย่างใด

ในด้านของโรงแรม คุณสุวดี ก็มองว่า คนกรุงเทพฯมาเที่ยวดาษดาส่วนใหญ่ก็อยากมาดูดอกไม้ แต่เราก็ต้องเน้นสร้างกิจกรรมให้หลากหลาย ไม่ใช่แค่มาถ่ายรูปกับดอกไม้ ทำให้ในขณะนี้ทางโรงแรม จึงใส่กิจกรรมต่างๆเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการขับรถเอทีวี ปั่นจักรยาน และกำลังจะซื้อเรือคยัคมาให้บริการ เพราะเธอมองว่าโรงแรมจะพึ่งพาเฉพาะงานเทศกาลดอกไม้ในช่วง 3 เดือนเพื่อมาผลักดันอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเป็นหลักอย่างในอดีตไม่ได้ ต้องขับเคลื่อนให้เกิดการเข้าพักตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นการดึงกลุ่มสัมมนา เข้ามาเติมเต็มการเข้าพักในช่วงวันธรรมดา การขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดต่างประเทศเป็นต้น

นอกจากนี้เธอยังมองที่จะเปลี่ยนรูปแบบอีเวนต์การจัดเทศกาลดอกไม้ของดาษดา ที่ควรจะมีการจัดทุก 3 เดือน โดยงานใหญ่ก็จะเป็นเทศกาลดอกไม้ในช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปีอยู่ การขายบัตรเข้าชมงานก็สามารถขายได้ในราคา 250 บาทเพราะจัดงานเต็มพื้นที่ จากนั้นก็ยังเปิดให้บริการต่อได้อีก แต่อาจจะเป็นเฉพาะ HALL A เพราะดอกไม้ยังสามารถอยู่ได้ต่ออีก แต่ขายบัตรเข้าชมเหลือ 100 บาท ส่วนในเดือนสิงหาคม ก็อาจจะมีอีเวนต์รับวันแม่ ก็จะทำให้เกิดโมเมนตัมที่ทำให้เกิดการท่องเที่ยวและสร้างการรับรู้ให้ดาษดาได้ตลอดทั้งปี รวมถึงการทำแพ็กเกจ เพื่อสร้างกิจกรรมการขายเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่นไปดูหมู่บ้านทำไม้ไผ่ ไปน้ำตกเขาใหญ่ เป็นต้น

 เล็งสร้างพูลวิลล่าในอีก 4 ปี

ขณะเดียวกันด้วยความที่ยังมีพื้นที่เหลือในอนาคต มองว่ายังสามารถลงทุนโครงการรีสอร์ตในแบบพูลวิลล่าและวิลล่าแบบเอ็กเซกคลูซีฟ รวมจำนวน 30 หลัง ที่คาดว่าจะเป็นโครงการที่จะลงทุนในอีก 4 ปีข้างหน้า เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง ซึ่งถือว่ายืดเวลาออกไป เพราะวันนี้ต้องการทำดาษดาในส่วนที่เปิดให้บริการอยู่แล้วให้ดีที่สุดก่อน ซึ่งในแต่ละปีก็ต้องการให้มีคนมาเที่ยวเพิ่มขึ้น อย่างในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวราว 2.5-3 แสนคน ปีนี้ก็คาดหวังว่าการจัดอีเวนต์ในทุก 3 เดือนจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 4 แสนคน

ในส่วนของการเพาะปลูกดอกไม้เมืองหนาว เธอเล่าว่าด้วยความที่ติดตามคุณลุงไปดูตลาดประมูลดอกไม้ (ออกชัน มาร์เก็ต)ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเนเธอร์แลนด์เกือบทุกปี นอกจากจะเป็นช่องทางหลักในการขายดอกไม้โดยตรงกับผู้ซื้อรายใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านแล้ว เธอกับคุณลุง ยังมองหาพันธุ์ไม้แปลกเข้ามาปลูกและทดลองขายในประเทศ อาทิ ลิลลี่สีดำ ส่วนการขายกล้วยไม้ฟาแลนนอฟซิส ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็มีช่องทางในการหาตลาดได้ เพราะเรามีพันธมิตรทางธุรกิจ อย่าง ญี่ปุ่น ที่ทำธุรกิจน้ำมันร่วมกันอยู่ ทั้งดีมานด์ความต้องการกล้วยไม้พันธุ์นี้มีสูงมาก ในปีนี้ก็มีแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกกล้วยไม้สายพันธุ์นี้ไปยังพื้นที่เพาะปลูกที่จ.เชียงใหม่ที่มีอยู่ด้วย และวันนี้เธอยังเล่าด้วยว่ายังมีพื้นที่ปลูกดอกเบญจมาศ ซึ่งในปีนี้วางแผนจะปลูกที่ประเทศเวียดนาม เพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศ รวมถึงการไปซื้อที่ดินที่ลาว เพื่อปลูกไม้เมืองหนาว อย่าง ดอกไฮเดนเยียร์ เพื่อนำมาขายส่งในไทยด้วย

ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางของดาษดา ภายใต้การบริหารของนิวเจเนอเรชันที่จะเกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559