ชาวนาโวยถูกสวมสิทธิ์ ฮุบค่าฝากเก็บข้าว1,500 โรงสีประกาศขายทิ้งทั่วไทย

01 ก.ย. 2561 | 07:43 น.
สหกรณ์ถูกแฉยับ สวมสิทธิ์ชาวนาฮุบค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน  อาศัยจำนำยุ้งฉางบังหน้า ชี้ ธ.ก.ส.ต้องรับผิดชอบหากเกิดทุจริตรอบใหม่ ด้านนายกสมาคมโรงสีพ้อรัฐ  ปั้นคู่แข่งรับซื้อข้าว ทำอุตสาหกรรม 4 แสนล้านสะเทือน ประกาศโละขายโรงสีทั่วประเทศ

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังเกาะติดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี หรือจำนำยุ้งฉาง ปีการผลิต 2561/2562 อย่างต่อเนื่อง หลังคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบพบโครงการมีทุจริตเกิดขึ้นแล้วในปีที่ผ่านมา ชาวนา

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่าจากการเดินทางไปพบปะกับชาวนาทั่วทุกภาค ได้รับการร้องเรียนว่าโครงการจำนำยุ้งฉาง ที่รัฐบาลให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนไปซื้อข้าวจากสมาชิกนั้น มีปัญหามาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยได้รับร้องเรียนจากสมาชิกว่าไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว อันเกิดจากรู้ไม่เท่าทัน

ทั้งนี้เกษตรกรเข้าใจว่าการส่งข้าวให้สหกรณ์/สถาบันเกษตรกรเป็นการซื้อขายข้าวแบบซื้อขาดแบบปกติ โดยสถาบันจะนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อรอเงินปันผล แต่ปรากฏสถาบันเกษตรกรหลายแห่งได้สวมสิทธินำชื่อสมาชิกไปขอเงินค่าฝากเก็บข้าวจากรัฐบาล 1,500 บาทต่อตัน ถือเป็นการทุจริตและเอาเปรียบชาวนา ดังนั้นหากในปีนี้จะดำเนินการในรูปแบบใหม่ โดยให้สหกรณ์สามารถไปเช่าคลัง/โกดังโรงสีหรือของเอกชนฝากเก็บข้าวได้ หากเกิดการทุจริตขึ้นมาหน่วยงานรัฐที่คิดโมเดลนี้ต้องรับผิดชอบเอง ชาวนาไม่เกี่ยว

สอดคล้องกับนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ที่กล่าวว่า การที่สหกรณ์สถาบันเกษตรกร ได้สินเชื่อในการรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยรับภาระดอกเบี้ยเพียง 1% ถือว่าเป็นแต้มต่อการเงินธุรกิจที่ตํ่าแล้วในการซื้อข้าวเก็บไว้เพื่อรอเก็งกำไร แต่อย่ามาใช้การจำนำยุ้งฉางที่รัฐให้ค่าฝากเก็บข้าวตันละ 1,500 บาทมาเป็นแต้มต่อในเชิงธุรกิจที่สร้างผลกำไรให้กับสถาบันนั้นๆ โดยแย่งซื้อข้าวแข่งกับเอกชน เพราะจะก่อให้เกิดปัญหาในระบบค้าข้าวที่มีเงินหมุนเวียนปีละกว่า 4 แสนล้านบาทจะกระทบเป็นลูกโซ่ กลายเป็นว่ารัฐบาลได้สร้างผู้ประกอบการค้าข้าวรายใหม่ขึ้นมาแข่ง จากปัจจุบันมีโรงสีเอกชนทั่วประเทศกว่า 1,400 โรง มีกำลังการผลิตสูงกว่าผลผลิตข้าวเปลือกถึง 4 เท่า (ดูกราฟิกประกอบ)  TP8-3397-A

“สภาพปัจจุบันแบงก์มองโรงสีเป็นธุรกิจเสี่ยง มีความอ่อนแอ เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ภาพของโรงสีไม่ต่างจากภาคประมง  หากมีการแทรกแซงแบบนี้ในอนาคตรัฐบาลควรจะซื้อธุรกิจโรงสีข้าวไปทำเอง อย่านำโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก  ที่รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% มากล่าวอ้างเป็นคนละเรื่องกัน ส่วนจำนำยุ้งฉางในโมเดลใหม่ที่ออกมา โรงสียังไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น แต่จินตนาการว่าจะมีทุจริต คดโกง ถูกมองในแง่ลบ อยากขอความเป็นธรรมบ้าง” 090861-1927-9-335x503

 

แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วในมาตรการที่รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องข้าวปีการผลิต 2561/2562 จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ผลิต คือ เกษตรกร จะได้รับค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ ถ้ามียุ้งฉางเก็บข้าว จะได้รับค่าฝากเก็บ ส่วนพ่อค้าข้าว หรือโรงสี เก็บข้าวไว้ในโครงการชะลอข้าวเปลือกที่เปิดโอกาสให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการ ต้องเก็บข้าวเปลือกอย่างน้อย 2-6 เดือน โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย 3%

 

ส่วนโครงการสินเชื่อชะลอการขาย กำหนดว่าสถาบันเกษตรกร-สหกรณ์จะได้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท สถาบันที่ได้รับค่าฝากเก็บ 1,000 บาท/ตัน นั้นจะต้องจ่ายให้สมาชิก ตันละ 500 บาท  ทั้งนี้จะต้องมีที่เก็บเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ดี ปีที่ผ่านมาสมาชิกไม่ได้รับค่าฝากเก็บนั้น ทางที่ประชุม นบข.(วันที่ 12 ก.ค.61)กำชับไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซํ้ารอยในปีที่แล้ว

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,397 วันที่ 2-5 กันยายน 2561

e-book-1-503x62-7