'ยงยุทธ' ดันร่าง กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ วางกลไกบริหารจัดการปฏิรูประเทศ

15 ก.พ. 2559 | 05:00 น.
ตามร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ กำหนดให้ต้องมีกฎหมายลูกออกมารองรับอีกหลายฉบับ แต่ต้องไม่ลืมร่างกฎหมายสำคัญที่ต้องออกมาเพื่อความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศร่วมด้วย นั่นก็คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยุทธศาสตร์แห่งชาติ อีกฉบับที่ต้องให้ความสนใจยิ่ง

[caption id="attachment_31476" align="aligncenter" width="503"] กลไกการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติ กลไกการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติ[/caption]

เหตุที่สาระหลักสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นแม่บทหลักในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง และแผนพัฒนาการขับเคลื่อนประเทศด้านต่างๆที่ รัฐบาลใหม่ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งต้องปฏิบัติตาม โดยล่าสุดได้ถูกบรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมของ "สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ" (สปท.) ที่เตรียมนำเข้าที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้แล้ว

พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สปท. ได้เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ยืนยันว่า เนื้อหาในร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ กว่า 90% ยังยึดตามร่างที่เคยจัดทำไว้ก่อนหน้านี้ ในสมัยที่เป็น ประธานอนุกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จึงอาจกล่าวได้ว่า ในร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ฉบับนี้ เคยผ่านความเห็นชอบจาก สปช. มาแล้ว

อย่างไรก็ดี กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศชุดนี้ ได้ประชุมพิจารณาแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น แต่คงไว้ซึ่งหลักการสำคัญเรื่องกลไกการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ให้มี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ" ขึ้นมา 1 คณะ มาจาก ผู้นำฝ่ายการเมือง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธาน สปท.
เมื่อได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ให้เป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ที่เหลือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านยุทธศาสตร์กลุ่มภารกิจปฏิรูปต่างๆอีก 22 คน มีกลไกรอง คือ "คณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ" ซึ่งมาจากภาคส่วนต่างๆ จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 11 ด้าน แต่งตั้งโดยผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

และกำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้

ร่างฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 20 ปี แต่กำหนดให้ทบทวนทุก 5 ปี หรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อเป้าประสงค์หลักตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีนัยสำคัญ

ขีดเส้นใต้เป็นพิเศษที่ มาตรา 37 (4) กรณีไม่ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติส่อไปในทางทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบให้ คณะกรรมการ ส่งเรื่องให้ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้

การจัดทำและดำเนินนโยบายหรือแผนงานของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ตลอดจนองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ นับจากนี้จึงมิใช่ต่างคนต่างคิด ต่างทำ อีกต่อไป แต่จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ได้ประกาศใช้บังคับ ทั้งยังต้องมีกลไกบูรณการแผนงานตางๆให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ ทั้งด้านการจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากร และสนับสนุนแผนงานในลำดับความสำคัญที่มุ่งผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามเป้าประสงค์ของประเทศ

"ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการสืบทอดภารกิจการปฏิรูป เพราะยุทธศาสตร์ที่วางไว้นั้นยังสามารถปรับเปลี่ยนกันได้ ซึ่งคาดว่าในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ สมาชิก สปท.ทุกคนจะได้ร่วมพิจารณา อภิปราย หากสมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบ จะส่งให้ ครม. ตรวจสอบเนื้อหา ก่อนส่งให้ สนช.ออกเป็นกฎหมายต่อไป" พ.ต.ต.ยงยุทธ ย้ำชัด

ย้อนกลับไปดูในร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ในร่างรัฐธรรมนูญของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ถูกตีตกไปนั้น บรรจุเอาไว้ในภาคที่ 4 เรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ในหมวด 2 เรื่องการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความปรองดอง ส่วนที่ 1 คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.)

เทียบกับร่างรัฐธรรมนูญ (เบื้องต้น) ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในขณะนี้ ตัดเรื่องปรองดองออกไป และเขียนเอาไว้สั้นๆ ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 61 ที่กำหนดว่า รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆให้สอดคล้อง และบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมาย

วรรค 2 ระบุว่า การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย การจัดทำและสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ให้ป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งต้องมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย

วรรค 3 ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

และในบทเฉพาะกาล มาตรา 263 ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 61 วรรค 2 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติตามมาตรา 61 ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้

สะท้อนให้เห็นว่า ร่างรธน.ฉบับมีชัย ให้ความสำคัญต่อร่างกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ ที่ได้กำหนดให้มีกลไกการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,131 วันที่ 14 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559