SCB ชิงพอร์ตเศรษฐี 3 ล้านล. เดินหน้าเปิดศูนย์บริหารเงิน 60 แห่ง ในปี62

01 ก.ย. 2561 | 07:28 น.
ไทยพาณิชย์ ตั้งเป้า 3-5 ปี ขึ้นแท่นผู้นำธุรกิจบริหารเงินคนรวย ดันสินทรัพย์ 3 ล้านล้านบาท เดินหน้าเปิดศูนย์ 15 แห่ง แนะนำการลงทุน ดึงแชร์สินทรัพย์ลูกค้าเพิ่ม ตั้งเป้าเปิดครบ 60 แห่ง ในปี 62

นางสาวศลิษา หาญพาณิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย First และผู้บริหารสาย Segment Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า ตั้งเป้า 3-5 ปี จะขึ้นเป็นผู้นำด้านเวลธ์ แบงกิ้ง โดยลูกค้าที่มีเงินฝากตั้งแต่ 1 ล้านบาท จะต้องนึกถึงธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแห่งแรก จากปัจจุบันอยู่อันดับ 3 และเพิ่มส่วนแบ่งสินทรัพย์และการลงทุน (AUM) เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปัจจุบันที่มี1.5 ล้านล้านบาทคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านบาทภายใน 3-5 ปีโดยตั้งเป้าขยายตัว 15-20% AUM จะอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาทในปีนี้

ในแง่ฐานลูกค้า อาจไม่ได้ขยายตัวมาก จากที่มีอยู่ 2.6-3 แสนราย เพราะต้องการเติบโตในส่วนของสินทรัพย์ ที่ปัจจุบันมี 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ลูกค้า SCB Private Banking มี AUM ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป มีฐานลูกค้า 1 หมื่นราย สินทรัพย์รวม 7.5 แสนล้านบาท ลูกค้า SCB FIRST ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 10-50 ล้านบาท มีลูกค้า 5 หมื่นราย มีสินทรัพย์ราว 4 แสนล้านบาท และลูกค้า SCB PRIME ที่มีสินทรัพย์ตั้งแต่ 2-10 ล้านบาท มีฐานลูกค้าราว 2แสนราย มีสินทรัพย์ประมาณ 4 แสนล้านบาท

Print

“ภาพรวมตลาดมีศักยภาพและโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะ คนไทยกว่า 70 ล้านคนเป็นกลุ่มที่มี AUM 2 ล้านบาทขึ้นไปประมาณ 7แสนราย โดยมีสินทรัพย์รวม 15 ล้านล้านบาท จากสินทรัพย์รวม 20 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็น กลุ่มที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ คาดว่าภายใน 5 ปีหรือปี 2565 อัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้น โดยในแง่ฐานลูกค้าเติบโต 5-7% หรือเพิ่มขึ้นเป็น9แสนราย และสินทรัพย์ลงทุนในประเทศเพิ่มเป็น 17 ล้านล้านบาท เติบโต 4.4% เนื่องจากปัจจุบันคนไทยเริ่มมีความรู้และความเข้าใจในการลงทุนมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม คนไทยส่วนใหญ่ยังเน้นการฝากเงินและผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนคงที่เป็นหลักประมาณ70% โดยมีสัดส่วนลงทุนน้อยราว 30% เมื่อเทียบกับต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ มีสัดส่วนลงทุนสูงถึง 70% และฝากเงินเพียง 30% หรือเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นมีสัดส่วนเงินฝาก 50% และลงทุน 50% แต่เป็นการลงทุนในตลาดต่างประเทศ เมื่อเทียบกับคนไทยยังเน้นการลงทุนในไทย โดยปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ยังเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงตํ่า เช่น ตลาดเงิน ตราสาร โดยให้ผลตอบแทน(Yield) เฉลี่ย 2% และพอร์ตความเสี่ยงระดับกลาง จะเป็นกองทุนผสม ตราสารหนี้และตราสารทุน ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6% และความเสี่ยงสูงผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 7-8% และในจำนวนสินทรัพย์กว่า 1.5 ล้านล้านบาท จะเป็นการลงทุนในกองทุนราว 7-8 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 10-15% ส่วนประกันเติบโตทรงตัวประมาณ 5%

090861-1927-9-335x503-3

ดังนั้น กลยุทธ์ที่จะผลักดันให้ธนาคารสามารถขึ้นเป็นผู้นำด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth Management) มี 3 ด้านคือ 1.SCB Investment Center (IC) ศูนย์บริหารความมั่งคั่งที่เปิดแล้ว 10 แห่ง คาดว่าภายในสิ้นปีจะเปิดเพิ่มเป็น 15 แห่ง และภายในปี 2562 จะเปิดทั้งสิ้น 60 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ และหัวเมืองใหญ่ 2.ทีมที่ปรึกษาการเงินที่จะให้คำแนะนำลูกค้า ทั้งในส่วนของ CIO office กว่า 30 คน และ Personal Banker ที่มีพนักงานรวมกว่า 1,700 คน ที่จะช่วยลูกค้าวางแผนทางการเงินและมุมมองการลงทุน และ 3.Wealth Tech เครื่องมือที่ช่วยแนะนำการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลได้ดียิ่งขึ้น

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,395 วันที่ 26-29 ส.ค. 2561 e-book-1-503x62