นายกฯชี้ชุมพรเเละระนองเชื่อมสองฝั่งทะเลไทยนำไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโลก

25 ส.ค. 2561 | 07:28 น.
นายกฯชี้ชุมพรเเละระนองเชื่อมสองฝั่งทะเลไทยนำไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโลก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า” เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานะครับ ผมก็ได้นำคณะเดินทางลงไปประชุมคณะ รัฐมนตรี ที่จังหวัดชุมพร และระนอง ในการลงพื้นที่ทุกครั้ง ก็ดีใจ ชื่นใจ เห็นรอยยิ้มของพี่น้องประชาชนนะครับ ทั้งที่มา และอาจจะไม่ได้มา ก็ได้ฝากความห่วงใยมาถึงรัฐบาล มาถึงผมด้วย ก็ขอขอบคุณนะครับ พี่น้องชาวระนอง หลายคน ก็แสดงความพึงพอใจ ชุมพร ด้วย

จังหวัดระนองนั้น อาจจะเป็นจังหวัดเล็กๆ มี ส.ส. เพียงคนเดียว แล้วก็อาจจะไม่เคยเห็นนายกฯ มาที่จังหวัดระนองนะครับ แล้วอยู่ใกล้ชิดกับเขา ผมเห็นว่า “ทุกจังหวัด” ไม่ว่าจะเล็ก จะใหญ่ มีความสำคัญทั้งหมด เพราะว่ารัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศนะครับ เพียงแต่ว่าเราต้องกำหนดบทบาทนะครับ ในแต่ละพื้นที่ ว่าจะมีอะไรที่แตกต่างกันบ้างตามศักยภาพ เพราะการเป็นรัฐบาล และคณะรัฐมนตรี นั้น เราจะต้องเป็นรัฐบาลของ “คนทั้งประเทศ” นะครับ เราเลือกใครไม่ได้

ในส่วนของ “ทีมเตรียมงาน – ส่วนล่วงหน้า” ก็ได้บอกว่า มีคุณป้าคนหนึ่ง อยู่ที่ร้านขายน้ำข้างบ่อน้ำพุร้อน มาตั้งแต่ตี 3 ตื่นมานะครับ มารอต้อนรับ ก็ขอขอบคุณนะครับ หลายๆ ท่านก็คงลำบากเหมือนกันในการมาพบผมในครั้งนั้นนะครับ ขณะที่ผมและคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเดินทางมานี้ ก็ได้มีการเตรียมการล่วงหน้าของเจ้าหน้าที่ในทุกระดับนะครับ ก็ได้มีการพูดคุย เก็บข้อมูล ข้อเท็จจริง จากประชาชน โดยตรงด้วย

tuking25-8

ผมก็เชื่อว่าการเดินทางมาครั้งนี้จะช่วย “เติมเต็ม” ซึ่งกันและกัน โดยจังหวัด กลุ่มจังหวัด และภาพรวมของประเทศ นะครับ จะต้องเชื่อมโยง เกื้อกูล และสอดคล้องกัน นั่นคือเศรษฐกิจของประเทศไทยนะครับ ไม่ใช่ว่าเล็กๆ น้อยๆ อาชีพนี้ อย่างเดียว แล้วแต่ละพวก แต่ละกลุ่มก็มีความต้องการคนละอย่าง สองอย่าง แต่ถ้าเราไม่สร้างเครือข่าย ให้เกิดขึ้นมาให้ได้ ในพื้นที่กว้างขึ้น ตลาดมากขึ้น สร้างกลไกในการเชื่อมโยงมากขึ้น เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นพี่น้องก็คงจะต้องเดือดร้อน จากคำกล่าวที่ว่าเศรษฐกิจเราตกต่ำ คนจนไม่มีเงินใช้ ทำนองนี้มาโดยตลอด แล้วก็ถ้าเราไม่แก้ไขแบบที่กำลังทำวันนี้ จะยิ่งกว่าเดิมไปเรื่อยๆ นะครับ ผมก็อยากจะเรียนพ่อแม่พี่น้องให้ทราบ

ระนอง – ชุมพร นั้นเราถือว่าเป็น “ประตู” สู่ภาคใต้ตอนล่างของไทย เชื่อมโยงสองฝั่งนะครับ อ่าวไทยกับอันดามัน สำคัญต่อยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของประเทศ ที่ผ่านมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ มักเกิดขึ้นในฝั่งชายทะเลตะวันออกของทวีปเอเชียซึ่งในอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันตก จะมีความสำคัญมากขึ้นไม่แพ้กัน เพราะว่ามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากนะครับ มีประชากรหนาแน่น เป็นตลาดขนาดใหญ่ แล้วก็ทำให้มีความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็เป็นอีกโอกาสนะครับ ที่เราจะสามารถขยายตลาด และกระจายคู่ค้าออกไปได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ 2 จังหวัด ทำหน้าที่เป็น “ประตู” ที่เปิดกว้างของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ได้อย่างเต็มที่ เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศเอง ภายใน แล้วก็ภายนอกด้วยนะครับ การค้าระหว่างประเทศ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ รัฐบาลได้เน้นการพัฒนาจังหวัดระนอง ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Smart Living City) ผ่านการส่งเสริมเรื่องแพทย์ทางเลือก เพราะมี “บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติ” โดยจะต้องดูแล รักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางน้ำ ให้มีความสมบูรณ์ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต พัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการค้า โลจิสติกส์ ชายฝั่งอันดามัน ซึ่งก็จะสนับสนุนแนวคิด การเชื่อมโยงของกลุ่มประเทศอินโด-แปซิฟิก และของจีนนะครับ เพื่อการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาใช้ประโยชน์ท่าเรือระนองให้เต็มศักยภาพ

สำหรับชุมพร นั้นเช่นเดียวกันก็คงจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรกรรมและบริโภคได้ นอกจากนี้ จะต้องเร่งส่งเสริมเรื่องวิสาหกิจชุมชนและการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ดีขึ้น

นอกจาก 2 จังหวัด ที่ไปเยี่ยมชม ด้วยตัวเองแล้ว ผมยังได้มีโอกาสหารือในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้กับผู้แทนประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อวางแนวทางการดำเนินงานและการพัฒนาพื้นที่ อันได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา กับกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล นะครับ อาทิ โครงการที่สำคัญ4 ด้าน ก็คือ...

turan2

1. การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางให้สามารถเชื่อมโยงเครือข่าย ใช้เป็นประโยชน์ ในการเป็นประตูส่งสินค้าออกไปทางฝั่งตะวันตก (Western Gateway) สำหรับเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งแนวตะวันออก-ตะวันตก และแนวเหนือ-ใต้ รวมถึงประเทศจีน มีทั้งการขยายทางหลัก การก่อสร้างใหม่ การสร้างถนนเชื่อมสองฝั่งทะเล รวมถึงเร่งรัดการก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายหาดอ่าวไทย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ เพื่อสนับสนุนด้านอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อาทิ “ทางราง” ก็ได้มีการพิจารณาโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ เชื่อมโยงชุมพร ลงไปถึง ปาดังเบซาร์ และการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่

“ทางน้ำ” มีการพิจารณาพัฒนาท่าเทียบเรือ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ในขณะที่ “ทางอากาศ” ก็ได้หารือในเรื่องการปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ให้มีความสะดวกยิ่งขึ้นโครงการเหล่านี้นะครับ จะช่วยเตรียมความพร้อมในการเตรียมการแผนระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ของประเทศต่อไปอีกด้วย โดยแผนงานโครงการต้องทำให้ชัดเจน คำนึงถึงความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบประมาณ และผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นหลัก รวมถึงให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาของรัฐบาลอีกด้วย

2. การผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จะพัฒนาทั้งการแปรรูปการเกษตร การประมง เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Base Industry) ที่ต่อยอดจากการผลิตน้ำมันปาล์มให้มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงการยกระดับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ให้เป็นศูนย์กลางของงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน และยางพารา ยกระดับเกษตรกรรายย่อยให้มีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปให้มากขึ้น โดยมีการหารือเรื่องการจัดตั้ง Oil Palm City ที่สุราษฎร์ธานี มีการส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพ ชีวมวล จากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมและตามแนวประชารัฐ

มีการพัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีความแม่นยำสูง รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการจัดทำมาตรฐาน การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน สำหรับรองรับอุตสาหกรรม 4.0 มีการสร้าง Smart Farmer การจัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตรตามแนวประชารัฐ การพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งการจัดตั้งโรงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจร ทั้งนี้เพื่อจะยกระดับ ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ “คลัสเตอร์เกษตร” ภาคใต้นะครับ ซึ่งผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างกลไกและขับเคลื่อนให้ได้โดยเร็วที่สุด ร่วมกันกำหนดพื้นที่เพาะปลูก มีการทำเกษตรแบบผสมผสานปลูกพืชเสริมพืชหลัก และการรวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่เป็นต้น โดยจะต้องนำ Big Data มาใช้มากขึ้นด้วยข้อมูลจากทุกหน่วยงานมาวิเคราะห์ สนับสนุนการตัดสินใจ การวิเคราะห์สถานการณ์ “การตลาดนำการผลิต” และแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อที่จะได้ส่งเสริมการทำเกษตรให้ตรงจุด

tunam1

นอกจากนี้ ผมได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ลงทะเบียนแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหลัก เพื่อจะบ่งบอกถึงแหล่งการเพาะปลูกพืชต่างๆ อีกด้วยเพราะต่างชาติให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว หากไม่พบแหล่งที่มาของพืชการเกษตรหรือปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย ก็จะไม่มีการซื้อสินค้าเกษตรดังกล่าวนะครับ ก็จะเกิดปัญหาที่ใหญ่ขึ้น อื่นๆ ตามมาอีก

3. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่กับแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ให้เชื่อมโยงกับอันดามัน นะครับ (Royal Coast Andaman Cruise) เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ “ริเวียร่าเมืองไทย” นอกจากการท่องเที่ยวในภาพรวมแล้ว ยังมีการหารือการพัฒนาศักยภาพ เพื่อจะรักษาความปลอดภัยเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งทางบกและทางน้ำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบแจ้งเตือนภัยในเชิงป้องกัน และ CCTV ในเชิงป้องปราบ เป็นต้น การยกระดับแหล่งท่องเที่ยว เช่น สปาวารีบำบัดน้ำพุร้อนและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อให้สามารถสนับสนุนธุรกิจในชุมชนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว และการก่อสร้างศูนย์การกีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับประเทศ

4. การศึกษาแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ป่าไม้ และป่าชายเลน (Green and Culture) การขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่สุราษฎร์ธานี การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้เรื่องน้ำท่วม รวมถึงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ในจังหวัดพังงาและระนองเป็นต้น สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ในจังหวัดชุมพร ซึ่งสร้างขึ้นเป็น “แก้มลิงธรรมชาติ” นั้น นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในจังหวัดชุมพร และเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตรกรรม และผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงชุมชนในอนาคต แล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็น “แหล่งท่องเที่ยวชุมชน” ได้อีกด้วย
090861-1927-9-335x503-3

โดยเฉพาะ ถ้าหากมีเรื่องราว – เรื่องเล่าให้ศึกษา ก็ช่วยดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี โดยหนองใหญ่นี้ ได้มี “เกาะกลางน้ำ” ที่เกิดจากการนำดินจากการขุดบึง ปรับแก้มลิง มาถมจนเป็นเกาะ อยู่กลางน้ำ โดยมีการนำไม้ยืนต้นพันธุ์ภาคใต้ที่ใกล้สูญพันธุ์มาปลูกไว้หลายชนิด เป็นที่อยู่อาศัยของนกและกวาง มีการสร้าง “สะพานไม้เคี่ยม” ตามที่เห็นในรูปวันนี้ ที่สวยงามเชื่อมต่อระหว่างเกาะกับฝั่ง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เดินชมทัศนียภาพได้อีกด้วย ซึ่งสะพานนี้ สร้างเมื่อปี 2552 ยาว 295 เมตร กว้าง 1.2 เมตร ที่น่าสนใจคือ สร้างโดยแรงงานเด็กวัยรุ่นเพียง7 คน ใช้เวลาเพียง 45 วัน ใช้เงิน 460,000 บาท โดยไม่อาศัยเครื่องมือเครื่องจักรใดๆ ช่วยเลย สาเหตุที่ต้องใช้ไม้เคี่ยม เนื่องจากเป็นไม้ที่ทนน้ำ ทนแดด ทนฝน

ส่วนรูปทรงสะพานที่คดโค้ง มีขึ้นมีลง ก็แฝงด้วยคำสอนที่ว่า...เปรียบเหมือนชีวิตมนุษย์ ซึ่งย่อมมีทั้งขึ้นและลง และบางครั้งต้องคดเคี้ยวบ้าง ปัจจุบันเกิดการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา กลุ่มพลังมวลชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในจังหวัดชุมพร จึงร่วมกันบูรณะจนแล้วเสร็จในรูปแบบปัจจุบันที่เห็นนะครับ ภายในวันเดียว ผมจึงอยากนำ “เกร็ดความรู้” เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ซึ่งแฝงด้วยความยิ่งใหญ่ มาเล่าให้พี่น้องทั่วประเทศได้ฟัง ในทุกๆ ที่ ย่อมมีที่มาที่ไป ล้วนน่าศึกษา หากเราไม่มองข้ามนะครับ อีกทั้ง ยังมีแง่มุมสอนใจคนเราได้ด้วย นะครับ

นอกจากนี้ แนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่จะส่งเสริมให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการก่อสร้างโรงพยาบาลเพิ่มเติม ซึ่งจะต้องดูความเหมาะสมในเรื่องของพื้นที่ต่อไป รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในเครื่องมือรักษาพยาบาลและคุณภาพการบริการของโรงพยาบาล นอกจากนี้ การสนับสนุนการดำเนินงาน OTOP Academy เพื่อส่งเสริมความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจะพิจารณาในเรื่องความพร้อมของบุคลากรและรูปแบบการบริหารจัดการต่อไป”

e-book-1-503x62