ปัจจัยเฟดขึ้นดอกเบี้ยสวนทาง การจ้างงานดีตรงข้ามกับทิศทางเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลก

11 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
ตลาดแรงงานที่มีความแข็งแกร่งขึ้น สวนทางกับความอ่อนแอของดัชนีบ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจอื่นๆ ของสหรัฐฯ นับเป็นความท้าทายสำคัญต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผนการที่วางไว้หรือไม่

นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด และเจ้าหน้าที่เฟดรายอื่นกล่าวไว้ว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเวลาที่การจ้างงานเพิ่มจำนวนมากขึ้นเพื่อป้องกันใหม่ให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินไปในอนาคต รายงานการจ้างงานล่าสุดประจำเดือนมกราคมซึ่งแสดงให้เห็นถึงค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งสัญญาณว่าเฟดมีโอกาสที่จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ดี ดัชนีเศรษฐกิจอื่นๆ กลับบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ การเติบโตชะลอตัว และผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของตลาดการเงินยังไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความกังวลว่าถ้าเฟดตัดสินใจเดินหน้าปรับอัตราดอกเบี้ย อาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้บริโภคที่เริ่มได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

"ข้อความของผมถึงเฟดเกี่ยวกับการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงในเวลานี้ คืออย่าทำอะไรกับมัน ถ้าต้องการให้คนทำงานได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ขยายตัว สิ่งสุดท้ายที่คุณต้องการทำคือแตะเบรก โดยเฉพาะในเวลาที่ปราศจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อ" จาเร็ด เบิร์นสทีน นักเศรษฐศาสตร์จาก Center on Budget and Policy Priorities ให้ความเห็น

เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคม หลังจากคงไว้ที่ระดับใกล้เคียง 0% มาตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2551 โดยนางเยลเลนกล่าวมาโดยตลอดว่าเฟดจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ เนื่องจากเศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นและไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือมากเท่ากับที่ผ่านมา

นางเยลเลนมีกำหนดกล่าวต่อหน้าคณะกรรมาธิการการเงินของสภาคองเกรสในช่วงกลางสัปดาห์ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เฟดตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเดือนธันวาคม โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แนวโน้มเศรษฐกิจอ่อนแอลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นกระทบการส่งออกของบริษัทอเมริกันและชะลอการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม รายงานอัตราค่าแรงในเดือนมกราคมที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นที่จับตามองของเฟด ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า ค่าแรงเฉลี่ยที่จ่ายให้กับแรงงานชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมกราคมเป็น 25.39 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง ขณะที่ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาค่าแรงเพิ่มขึ้นถึง 2.5%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จ้างงานเพิ่มขึ้น 151,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม ช่วยให้อัตราว่างงานลดลงเหลือ 4.9% ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 แม้ว่าการจ้างงานจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 231,000 ตำแหน่งในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีก่อน

"การจ้างงานลดลงสู่ระดับที่เหมาะสมไม่ใช่สัญญาณที่เลวร้ายเสมอไป ดัชนีบ่งชี้ส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานในสหรัฐฯ อยู่บนพื้นฐานที่แข็งแกร่งและกำลังมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น" นาริมาน เบราเวช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากไอเอชเอส ให้ความเห็น นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งประกอบกับอัตราว่างงานที่ลดลงทำให้ยังมีโอกาสที่เฟดจะปรับดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม

นางเอสเธอร์ จอร์จ ประธานธนาคารกลางเมืองแคสซัส ซิตี้ กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เฟดควรค่อยๆ ปรับดอกเบี้ยขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ พร้อมแสดงความเห็นว่าในขณะที่เฟดไม่ควรเพิกเฉยต่อสัญญาณความผันผวนในตลาดการเงิน แต่ขณะเดียวกันนโยบายการเงินไม่จำเป็นต้องตอบสนองกับความผันผวนที่เกิดขึ้นทุกๆ ครั้ง

ขณะที่นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นของสหรัฐฯ ว่า มีความกังวลกับผลของความผันผวนในตลาดต่อเศรษฐกิจ "ถ้าสถานการณ์ทางการเงินยังคงอยู่ในเวลาที่เราประชุมในเดือนมีนาคม เราจะต้องนำปัจจัยดังกล่าวมาพิจารณาในการกำหนดนโยบายการเงิน"

ด้านนักเศรษฐศาสตร์เอกชนมองโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเดือนมีนาคมน้อยลง ไมเคิล แก็ปเปน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ส คาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3 ครั้ง และจะเริ่มปรับในเดือนมิถุนายนแทนที่จะเป็นเดือนมีนาคม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559