ทำไม...เจ้าสัว‘เจริญ’ กล้าซื้อ ‘บิ๊กซี’ ราคาแพง

12 ก.พ. 2559 | 11:00 น.
บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด(มหาชน) (บมจ.)(BIGC) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่า บริษัทได้รับแจ้งจากกลุ่ม "คาสิโน" ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่บิ๊กซีว่าได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด(ธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี) ซึ่งเป็นการซื้อและขายหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัทรวมทั้งสิ้นจำนวน 483,077,600 หุ้น ซึ่งคิดเป็นหุ้นจำนวน 58.56% ของหุ้นที่ชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท ในราคาหุ้นละ 252.88 บาท(อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน 39.77 บาทต่อ 1 ยูโร)มูลค่าการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1.22 แสนล้านบาท

[caption id="attachment_31086" align="aligncenter" width="503"] ราคาหุ้น BIGC ราคาหุ้น BIGC[/caption]

ขณะที่การขายหุ้นดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 31 มีนาคมนี้ ภายหลังการเสร็จสิ้นธุร
กรรมทีซีซี จะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์(เทนเดอร์ ออฟเฟอร์)ทั้งหมดของกิจการต่อไป
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางของบิ๊กซี หลังการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่ มาเป็นกลุ่มของนายเจริญ โดยระบุว่าแม้ยังไม่เห็นผลประโยชน์ระยะสั้น แต่ช่วยเพิ่มโอกาสต่อยอดไปต่างประเทศ และต้องตามดูนโยบายกลุ่มทีซีซีจะให้บิ๊กซี เป็นแกนหลักในธุรกิจค้าปลีกแทนบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ( BJC) หรือไม่

 เพิ่มโอกาสต่อยอดไปต่างประเทศ

ความเห็นของ "อนุวัฒน์ ศรีขจรรัตน์กุล" นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซีย พลัสฯ กล่าวว่าการซื้อครั้งนี้จะทำให้ทีซีซี มีธุรกิจครบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำในเมืองไทย (ผลิตสินค้า - จัดจำหน่าย) และกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มค้าปลีกครอบคลุมทั้งไทยและเวียดนาม (มีร้าน METRO รูปแบบค้าส่งคล้ายแม็คโคร และบริษัทในเครือคือ BJC มีร้าน B’ smart)

ขณะที่ฝั่งบิ๊กซี คาดหวังกำลังผนึก (Synergy) ระยะสั้นลำบาก เนื่องจากทีซีซีไม่มีประสบการณ์ทำค้าปลีกมาก่อน ประกอบกับเป็นอุตสาหกรรมในกลุ่มที่แข็งขันสูงและห้างเทสโก้ โลตัส อาจใช้ช่วงที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร รีบทำแคมเปญ แย่งส่วนแบ่งตลาด

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บล.เอเซีย พลัสฯ มองว่า บิ๊กซี อาจได้ประโยชน์ในด้านของโอกาสขยายธุรกิจในต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มทีซีซี และมีสายป่านยาว โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางจัดจำหน่ายทั้งแบบดั้งเดิม (ตัวแทนจำหน่าย) และโมเดิร์น เทรด (ค้าส่ง + ร้านสะดวกซื้อ) ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มทีซีซีจะเข้าประมูลบิ๊กซีที่เวียดนาม ที่มีนโยบายจะขายเช่นกัน (คาดมูลค่ากิจการราว 3 หมื่นล้านบาท) และต้องติดตามต่อไป

 ใครจะเป็นหัวหอกธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม BIGC หรือ BJC

อีกประเด็นที่ต้องติดตามนักวิเคราะห์ระบุว่า คือนโยบายการถือหุ้นในกลุ่มค้าปลีกของกลุ่มเสี่ยเจริญ ซึ่งปัจจุบันให้บีเจซี เป็นหัวหอกหลัก แต่ภายหลังการได้บิ๊กซีมา ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ฐานะการเงินดี (Net gearing 0.43 เท่า) สามารถซื้อธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ได้มากกว่าบีเจซี ซึ่งรวมถึงโอกาสเข้าซื้อ METRO เวียดนาม คืนจากกลุ่ม (เดิมจะให้บีเจซี ซื้อแต่ติดปัญหาด้านเงื่อนไขการจ่ายเงิน) หรือบิ๊กซีเวียดนาม ซึ่งต้องติดตามต่อไป แต่ถือเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อหุ้นบีเจซี ซึ่งราคาหุ้นมักจะผูกติดกับกระแสการซื้อและควบรวมกิจการ หรือทำ M&A

 นักวิเคราะห์มอง BJC ได้ประโยชน์มากสุด

ขณะที่บล.โนมูระ พัฒนสินฯ ระบุว่า ราคาเสนอซื้อบิ๊กซี ครั้งนี้ ค่อนข้างแพง โดยเทียบเท่าอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(พีอี เรโช) ปี 2558 ที่ 29 เท่า ซึ่งแพงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ 26 เท่า และประเมินว่า Synergy ที่กลุ่มจะได้รับอยู่ที่บริษัทลูกในเครือที่เป็นผู้ผลิตสินค้า เช่น บีเจซี เป็นต้น เพราะจะมีอำนาจต่อรองในการขายสินค้ามากขึ้น

โดยกรณีอิงรายได้ส่วนเพิ่มจากการขายของให้บิ๊กซี เพิ่มทุก 1% ของต้นทุนขายแต่ละปีของบิ๊กซี คาดว่าเกิดกำไรส่วนเพิ่มต่อบีเจซี ราว 20 ล้านบาท (คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.01 บาท/ หุ้น) หรือคิดเป็นราคาเป้าหมายส่วนเพิ่มราว 0.3 บาท/หุ้น จากปัจจุบันที่ 44.5 บาท ดังนั้นจึงแนะนำ "NEUTRAL" หรือให้น้ำหนักลงทุน "เท่ากับตลาด" สำหรับหุ้นบิ๊กซี ด้วยราคาเป้าหมาย 200 บาท

"หากราคาหุ้นบิ๊กซี ปรับตัวเข้าใกล้ราคา 253 บาท เป็นจังหวะขายทำกำไร ส่วนบีเจซี แนะนำ "ซื้อลงทุน" ประเมินเกิดผลบวกระยะยาวด้านอำนาจต่อรองขายสินค้า ให้ราคาเป้าหมาย 44.5 บาท" บทวิเคราะห์โมมูระ พัฒนสิน ระบุ สำหรับคำแนะนำการลงทุนในหุ้น 2 บริษัท

 หุ้น "บิ๊กซี" วิ่งเกินพื้นฐาน แนะ "ขาย"

ขณะที่บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)ฯ วิเคราะห์ว่า ราคาหุ้นบิ๊กซี ที่เคลื่อนไหวขณะนี้สูงกว่าราคาพื้นฐาน 220 บาทมากแล้ว ดังนั้นจึงแนะนำหาจังหวะขาย โดยดีลการเทกโอเวอร์ครั้งนี้ ทีซีซี ที่เป็นแม่จะได้ประโยชน์ที่สุด เนื่องจากการซื้อบิ๊กซีทำให้ธุรกิจในกลุ่มครบวงจรมากขึ้น หรืออาจจะเกิดการ Synergy ระหว่างบิ๊กซี กับบีเจซี ในรูปแบบเช่น จากแต่เดิมบีเจซี เสียอำนาจต่อรองให้ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ แต่เมื่อมีบิ๊กซี อยู่ในเครือเดียวกันก็อาจจะเสียส่วนลดการค้าน้อยผลักภาระให้บิ๊กซีได้

บทวิเคราะห์บล.กรุงศรีฯ ระบุว่า แม้ตลาดอาจคาดว่ากลุ่ม ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น จะเข้ามาขยายสาขาเพิ่มและเปิดช่องทางการจำหน่ายสินค้าของกลุ่มนายเจริญมากขึ้นก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าผลประกอบการบิ๊กซียังคงอ่อนแอตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาเทกโอเวอร์ ซื้อขายกันด้วยพี/อี สูงถึง 27 เท่า และหลังจากดีลนี้สำเร็จราคาหุ้นจะ Overhang ตามราคาเทนเดอร์ฯ จนกว่าจะเห็นแผนธุรกิจที่ชัดเจน ดังนั้นจึงแนะนำ "ขาย" หุ้นบิ๊กซี เพื่อทำกำไรระยะสั้นไปก่อน

สอดคล้องกับนักวิเคราะห์บล.กสิกรไทยฯ มองว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อกิจการอื่นๆ ราคาซื้อขายที่หุ้นละ 252.88 บาท คิดเป็น 1.61 เท่าของ EV to Sales ในปี 2558 ซึ่งต่ำกว่ารายการของแม็คโคร เล็กน้อยที่ 1.64 เท่าของ EV to Sales ในปี 2556 และราคาซื้อขายนี้ยังคิดเป็น 30 เท่าของกำไรต่อหุ้น ในปี 2558 และ 26 เท่าของ กำไรสุทธิต่อหุ้น ในปี 2559 เทียบกับค่าเฉลี่ยพี/อี ของบิ๊กซีที่ 24.6 เท่า ซึ่งปัจจุบันมีราคาเป้าหมายอยู่ที่ 214 บาท ต่อหุ้นเท่านั้น ดังนั้นจึงแนะนำผู้ถือหุ้นรายย่อยของบิ๊กซี ขายทำกำไรโดยการยอมรับการเทนเดอร์ฯที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559