‘กรุ๊ปลีส’ คุมเติบโตสินเชื่อรุกธุรกิจในเมียนมา-เต็นท์รถ

20 ส.ค. 2561 | 03:30 น.
กรุ๊ปลีส ชูนโยบาย “control business” โฟกัสคุณภาพหนี้แทนมุ่งเติบโตสินเชื่อ  หลังครึ่งปีแรก NLP พุ่งเป็น 5% ปรับเกณฑ์ปล่อยกู้เข้ม  พร้อมขยายโปรดักต์ผ่านบริษัทย่อยธนบรรณ รับซื้อขายรถมือสองครบวงจร รุกไมโครไฟแนนซ์เมียนมา

นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) (บมจ.) GL เปิดเผยว่า ครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทได้ปรับเปลี่ยนมาเน้นนโยบาย “Control Business” ไม่เน้นการเติบโตแต่มุ่งพัฒนาคุณภาพสินเชื่อแทน หลังจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไตรมาส 2/2561 สูงมาอยู่ระดับ 5% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เพิ่มจากสิ้นปี 2560 ที่อยู่ระดับ 4.2% ในอัตรา เร็วกว่าการเติบโตของสินเชื่อ

[caption id="attachment_306821" align="aligncenter" width="283"] ทัตซึยะ โคโนชิตะ ทัตซึยะ โคโนชิตะ[/caption]

“เราไม่ค่อยพอใจตัวเลขหนี้เสีย  จึงได้ปรับนโยบายคุมการเติบโตตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ และจะคงนโยบายไปถึงกลางปี 2562 จนกว่าจะคอนโทรล NPL ให้อยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้  4.00% ดังนั้นคาดว่าสิ้นปีนี้สินเชื่อคงค้างจะยังทรงตัว จาก ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่  7.89 พันล้านบาท (เทียบไตรมาส 1/2561 โต 2.34% และโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.38%)”

กลยุทธ์บริษัทครึ่งปีหลังจะโฟกัสลดค่าใช้จ่ายต้นทุนทางการเงิน และมุ่งทำธุรกิจในประเทศที่ยังสร้างผลกำไร เช่นในเมียนมาและไทย โดยเฉพาะเมียนมา บริษัทเข้าไปรุกสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์มาปีครึ่ง มีผลประกอบการดีเยี่ยม มาร์จินสูงกว่าการปล่อยสินเชื่อในประเทศอื่น หนี้เสียแทบไม่เกิด ส่วนที่กัมพูชายังคงดำเนินธุรกิจแบบคอนเซอร์เวทีฟ  เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในกัมพูชายังไม่เอื้อ  กรุ๊ปลีส copy

บริษัทมีรายได้รวม 729.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 125.98 ล้านบาท ลดลง 55.31% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โครงสร้างรายได้ยังอยู่ในประเทศไทยสัดส่วนถึง  62% เพิ่มจากสัดส่วน 57% ในปีที่แล้ว, กัมพูชาสัดส่วน 20% ลดลงจากเดิมที่มี 24%,  เมียนมาเพิ่มเป็น 8% จาก 3% ในปีที่แล้ว รองมาจากลาวและอินโดนีเซียสัดส่วนเท่ากัน 4%

นายมุเนะโอะ ทาชิโร่ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.กรุ๊ปลีส กล่าวเสริมกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าบริษัทเริ่มนโยบายคุมการเติบโตตั้งแต่กลางปีนี้ เห็นชัดเช่นการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเกณฑ์การให้สินเชื่อ โดยได้ปฏิเสธลูกค้าที่ไม่เข้าเกณฑ์มากขึ้นจากเดิมที่มียอดปฏิเสธสินเชื่อ (reject) อยู่ที่ 29% เพิ่มเป็น 32-33% หรือกรณีที่ประเทศกัมพูชา ได้ปรับเปลี่ยนแปลงทั้งนโยบายและโครงสร้างองค์กร จึงทำให้พอร์ตสินเชื่อที่ปล่อยในกัมพูชาลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ควบคู่กับการลดค่าใช้จ่ายซึ่งลดลงได้มากกว่า จึงทำให้กำไรที่กัมพูชายังเท่าเดิม

พร้อมกันนี้บริษัทยังได้รุกธุรกิจใหม่ ผ่านบริษัทธนบรรณ จำกัด (บริษัทย่อย ถือหุ้นโดยบมจ.กรุ๊ปลีส 100%) ให้บริการรับซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์โดยตรงจากลูกค้าและนำไปประมูลขายต่อ  เช่นเดียวกับเต็นท์รถ  โดยมีรายได้จากส่วนต่าง และต่อยอดธุรกิจ เช่นกรณีที่ลูกค้าผ่อนมอเตอร์ไซค์มา 3 ปี ปิดค่างวดแล้วต้องการเปลี่ยนรถขนาดใหญ่หรือราคาสูงขึ้น ก็สามารถขายและซื้อรถใหม่ได้จากไฟแนนซ์ของบริษัทได้อย่างครบวงจร

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,393 วันที่ 19-22 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62