เปิดโมเดล Holistic Educationอีกหนึ่งทางรอดอนาคตการศึกษาไทย 4.0

14 ส.ค. 2561 | 07:55 น.
เปิดโมเดล Holistic Educationอีกหนึ่งทางรอดอนาคตการศึกษาไทย 4.0

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาการปฏิรูประบบการศึกษาไทยยังคงถูกถกเถียงกันต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ จะพยายามปรับนโยบายให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงทิศทาง สู่สังคมยุค 4.0 หากผลพวงที่เกิดขึ้น คือ นโยบายและมาตรการต่างๆ ที่อัดเข้าสู่โรงเรียน อาทิ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สะเต็มศึกษา โรงเรียนประชารัฐ หรือ โรงเรียนคุณธรรมฯ ฯลฯ ทำให้ผู้บริหาร ครูและนักเรียน ต้องรับภาระงานนอกเหนือการเรียนการสอนกว่าปีละ 60 โครงการ ขณะที่ตัวชี้วัดหลักอย่างการสอบ ONET ก็พบว่ามีจุดอ่อน คือ ใช้วิธีวัดผลเป็นรายวิชา ไม่ได้ผสานองค์ความรู้รวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ระบบการศึกษาไทย ยังไม่สามารถปรับสู่กระบวนการเรียนรู้แห่งยุคศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

hol

ทั้งนี้ การจะปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้สำเร็จ นั้นสิ่งที่ต้องขับเคลื่อนมีหลายส่วนที่ต้องสัมพันธ์กัน ตั้งแต่การวางนโยบาย ปรับระบบการสอน รวมถึงปรับพฤติกรรมการเรียน การสอนของครูและนักเรียน ฯลฯ ซึ่งหากปล่อยเป็นภาระของภาครัฐอย่างกระทรวงศึกษาธิการเพียงฝ่ายเดียว ถือเป็นงานที่หนักเอาการ ดังนั้นการเปิดรับแนวคิดจากองค์กรด้านวิชาการที่มีความรู้ความสามารถมาปรับใช้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่น่าจะช่วยให้ไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น

ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์ แห่งสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า จากการที่สถาบันคีนันฯ ได้ ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาโครงการต่างๆ ด้านการศึกษาในประเทศไทยมากว่า 20 ปี พบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้ไทยยังไม่บรรลุเป้าหมายทางการศึกษา เกิดจาก 3 องค์ประกอบหลัก ยังไม่เชื่อมโยงกันอย่างเหมาะสม ได้แก่ 1.หลักสูตร 2.การสอน และ 3.การสอบ ซึ่งควรวิ่งเรียงตามลำดับ คือ ออกแบบหลักสูตร โดยโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนสอนอย่างไรก็ควรสอบอย่างนั้น และเมื่อสอบเสร็จได้ผลลัพธ์อย่างไร ก็จะสะท้อนกลับไปที่หลักสูตรนั้นว่า ทำให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้หรือไม่ ซึ่งหลักการเรียนการสอนโดยปกติควรเป็นแบบนี้

hol1

แต่ความเป็นจริงที่พบ คือ ชีวิตของครูทุกวันนี้ นอกจากถูกกดดันจากหลักสูตรและข้อสอบที่ผู้กำหนดนโยบายนำมาชี้วัด และยังมีภารกิจอื่นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถสอนนักเรียนให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเองได้ ซึ่งจากปัญหาที่ค้นพบนี้เอง สถาบันฯจึงสร้าง “โมเดลการศึกษาแบบองค์รวม หรือ Holistic Education” เพื่อช่วยแก้ไขจุดอ่อน ให้ครู สามารถจัดการเรียนการสอนที่ต่อยอดการคิดวิเคราะห์ให้นักเรียนได้เหมาะสม

“โมเดล Holistic Education คือ การนำการสอนของครู และโครงงานของนักเรียนมารวมกันให้มากที่สุด โดยครูจะทำหน้าที่วิเคราะห์ว่าแต่ละโครงงานตรงกับการเรียนรู้ใด ฉะนั้นในหนึ่งโครงงานที่ครูคิดมาให้เด็กลงมือทำ ต้องคิดมาอย่างดีแล้วว่ามันเกิดจากตัวชี้วัดอะไร ซึ่งตอนนี้ยังเน้นแค่วิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ เพราะถ้าครูวิทย์และครูคณิตสามารถทำงานร่วมกัน โดยนำตัวชี้วัด เช่น การบวกลบจำนวนไม่เกินเต็มสิบ การแยกพืชและสัตว์มาผสมกัน แล้วตั้งโจทย์ว่าจะทำโครงงานอะไรได้บ้าง เด็กก็จะทำโครงงานที่ไม่หลุดไปจากสิ่งที่ครูต้องสอนตามตัวชี้วัด โดยมันยังคงเป็นโครงงานอยู่”

โมเดลนี้เป็นแนวคิดที่ประยุกต์จากหลักสูตรของประเทศสิงค์โปร์ ผสานวิธีการเรียนการสอนจากประเทศฟินแลนด์ ด้าน Project Base Learning หรือ Issue Base Learning ซึ่งเด็กจะใช้เวลาเรียนแค่วันละ 5 - 6 ชั่วโมง เน้นให้ทำโครงงานภายใต้โจทย์ที่ครูวางไว้ตามตัวชี้วัด โดยการเรียนรู้ของเด็กก็จะเกิดจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้เสนอสิ่งที่ตัวเองคิด วิธีนี้เป็นการลดบทบาทของครูให้น้อยลง แต่เน้นให้เด็กลงมือทำจริง เรียนรู้เชื่อมโยงทุกวิชา เข้าภายในโครงงานเดียว และสามารถต่อยอดนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ด้วย

hol2

กระบวนการสำคัญสุดภายใต้โมเดล Holistic Education คือ วิธีออกแบบโครงงานที่ต้องเชื่อมโยงกับ “ตัวชี้วัด” ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฉบับปรับปรุง 2560 เพื่อให้การสอนแบบโครงงานกับการบรรยายผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ ONET

ปัจจุบัน โมเดล Holistic เป็นหนึ่งในกระบวนการสำคัญที่สถาบันฯ ใช้กับโรงเรียน ที่เข้าร่วมโครงการโบอิ้งยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี ระยะที่ 2 โดยมุ่งเน้นระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงปีสำคัญที่ต้องใช้หลักสูตรใหม่ด้านการศึกษา ทั้งนี้ช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมามีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 200 โรงเรียน

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“การนำวิธีการเรียนการสอนแบบ Project Base Learning เข้ามาประยุกต์ใช้ภายใต้โมเดล Holistic Education จะทำให้ความยากลำบากในการสอนของครูลดน้อยลง เปรียบเหมือนลูกเต๋าที่สามารถมองได้หลายมุม สามารถพลิกได้ ถ้าผู้อำนวยการฯ และครูเข้าใจจะช่วยลดภาระที่ไม่จำเป็นลงได้มาก ถือว่าสอดรับตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ไม่ใช่การลดวิชาเรียนจนปล่อยให้นักเรียนนั่งว่างๆ อย่างที่เป็นอยู่ในหลายโรงเรียนของไทยในขณะนี้” ดร.โชดก กล่าว

นี่ถือเป็นอีกมุมมองที่น่ารับฟังของอีกหนึ่งสถาบันผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษาไทย ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยทางเลือกที่อาจนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาไทยให้ทันโลกยุค 4.0 ได้อย่างแท้จริง เพราะการร่วมกันคิดกันทำ ย่อมดีกว่าการปล่อยให้ภาครัฐเดินเพียงลำพัง ...

e-book-1-503x62