'ทรู' บีบ กสทช. !! ประมูลคลื่น 700 หวังต่อยอด 5จี

12 ส.ค. 2561 | 09:52 น.
120861-1639

เผยเบื้องหลัง 'ทรู' ถอยประมูลคลื่น 900/1800 อ้างมีคลื่นพอให้บริการแล้ว เพื่อไม่สร้างหนี้เพิ่ม ออมแรงไว้ชิงคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ให้บริการ 5จี ปี 2563 ... ดีแทคยันไม่สนคลื่น 900 ชี้ตั้งราคาแพงแล้วยังให้แบกภาระระบบป้องกันคลื่นแทรกสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอส

การจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 18 และ 19 ส.ค. นี้ ตามลำดับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (บมจ.) มีหนังสือแจ้ง กสทช. ว่า จะไม่ส่งบริษัทในเครือเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ในรอบนี้แน่นอนแล้ว ขณะที่ ค่ายดีแทคและเอไอเอสก็สนใจประมูลเฉพาะคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์


20170314TRUE

แหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าวว่า นอกจากเหตุผลที่กลุ่มทรูอ้างว่า เนื่องจากจำนวนคลื่นความถี่ที่ถือครองอยู่ในปัจจุบัน ที่มีแบนด์วิดธ์รวมจำนวน 55 เมกะเฮิรตซ์ เพียงพอต่อปริมาณการให้บริการกับลูกค้าแล้ว นอกจากนี้ เป้าหมายของทรูชัดเจนว่า ต้องการให้รัฐยืดการจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 รอบที่แล้วในงวดที่เหลือออกไป มากกว่าที่จะเข้าประมูลที่จะสร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้นมาอีก

แหล่งข่าวยังกล่าวต่ออีกว่า การประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในครั้งนี้ แม้จะมีการปรับเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลเพื่อจูงใจเอกชนเข้าประมูลดังกล่าว ปรากฏว่า ผู้บริหาร กสทช. ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า มีแผนจะนำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ต่อจากคราวนี้ โดยจะมีราคาตั้งต้นถูกกว่าคลื่น 900 และ 1800

 

[caption id="attachment_305303" align="aligncenter" width="503"] ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.[/caption]

ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ตามแผนภายในปี 2563 กสทช. จะพยายามให้ประเทศไทยเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5จี โดยจะนำคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ มาพัฒนาเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นคลื่นที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 7 ใช้ออกอากาศให้บริการโทรทัศน์ระบบอนาล็อกมาแต่เดิม ปัจจุบัน ได้พัฒนาเปลี่ยนผ่านสู่โทรทัศน์ดิจิตอล โดยได้ยุติการเผยแพร่ออกอากาศระบบอนาล็อกไปแล้ว เมื่อกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา คาดว่า ในปี 2562 มีข้อสรุปแผนการพัฒนาคลื่นนี้ที่ชัดเจน

ด้าน นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการ องค์กร และพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ค่ายดีแทค เปิดเผยว่า สาเหตุที่ดีแทคตัดสินใจไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เพราะ 1.ราคาที่ กสทช. ตั้งสูงเกินไป 2.การติดตั้งฟิลเตอร์ที่ไม่รู้จำนวนที่แน่นอน ซึ่ง กสทช. กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประมูลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของการติดตั้งระบบป้องกันสัญญาณรบกวนระบบรถไฟความเร็วสูงฝ่ายเดียว


dtac-logo

ดีแทคต้องการให้ทาง กสทช. พิจารณาแก้ไขประเด็นข้อขัดข้องที่เกิดขึ้น แต่การจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่หรือไม่ ต้องดูเงื่อนไขของทาง กสทช. อีกครั้ง โดยดีแทคได้เสนอแนวทางในการแก้ไขให้ กสทช. พิจารณา คือ 1.ย้ายคลื่นความถี่ที่จะใช้ในระบบการเดินรถไฟความเร็วสูงไปที่ย่าน 450 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พัฒนาระบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี LTE บนคลื่นย่าน 450MHz แต่รถไฟความเร็วสูงของจีนที่จะให้บริการในประเทศไทยกลับใช้เทคโนโลยีเก่า 2.โอเปอเรเตอร์ต่างคนต่างรับผิดชอบติดตั้งระบบป้องกันในพื้นที่ของตนเอง 3.ถ้ายืนยันที่จะให้รถไฟความเร็วสูงใช้งานบนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ก็แนะนำให้ย้ายช่วงคลื่นสำหรับเดินรถไฟไปอยู่บริเวณช่วงปลาย ๆ เพื่อป้องกันการรบกวนกัน

"หากจะใช้คลื่นเดิมต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาคลื่นความถี่รบกวน แต่ถ้าจะให้ผู้ชนะการประมูลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้ ก็คงไม่มีใครเอา" นายราจีฟ กล่าว

ขณะที่ ในวันที่ 19 ส.ค. เอไอเอสและดีแทคเข้าร่วมประมูลชิงคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นแบ่งใบอนุญาตที่จะจัดการประมูลออกเป็น 9 ใบ ขนาดความถี่ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ประมูลสามารถประมูลสูงสุด 4 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นใบละ 12,486 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ 25 ล้านบาท โดยผู้เข้าร่วมการประมูลต้องวางหลักประกันการประมูล 2,500 ล้านบาท จากเดิมแบ่งคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนทั้งหมด 45 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 3 ใบอนุญาต ใบละ 15 เมกะเฮิรตซ์ อายุใบอนุญาต 15 ปี ราคาเริ่มต้นประมูล 37,457 ล้านบาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,391 วันที่ 12-15 ส.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'กลุ่มทรู' แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900MHz และ 1800MHz
ทรูมูฟ เอช มอบซิมดาต้าโรมมิ่งแก่อาสากู้ภัย หวังช่วยเหลือเหตุอุทกภัยใน สปป.ลาว



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว