รับน้องใหม่ ‘TPLAS’ เทรดตลาดmaiปีนี้

13 ส.ค. 2561 | 11:28 น.
หากกล่าวถึงถุงพลาสติกบรรจุอาหาร ประเภทถุงร้อน ถุงขุ่น และถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีอยู่ในท้องตลาดหลากหลายยี่ห้อ อาทิ ตราช้าง ตราดาว ตรากุญแจ ตรานกแก้ว ยังไม่มีบริษัทใดเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถุงบรรจุอาหาร ประเภท ถุงร้อน ผลิตจากพลาสติกชนิด PP, ถุงขุ่น และ ถุงหูหิ้ว ผลิตจากพลาสติกชนิด HDPE ภายใต้ตรา “หมากรุก” และฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร ผลิตจากพลาสติกชนิด PVC ภายใต้ตรา “Vow Wrap”
ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดในอันดับ Top 5 เป็นบริษัทแรกในขณะนี้ ที่เตรียมระดมทุนโดยการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ หรือ mai

ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายชนะชัย  จุลจิราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เออีซี จำกัด (มหาชน)  ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ TPLAS เปิดเผยว่า หลังจากบริษัทได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบไฟลิ่งของ TPLAS แล้ว และคาดว่าจะเข้าซื้อขายหุ้นในตลาด mai ได้ภายในปีนี้

นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ TPLAS กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันการผลิตถุงพลาสติกและถุงหูหิ้วเป็นผู้ประกอบการรายเดิมๆ ที่อยู่ในตลาดมานาน ไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆที่เพิ่มเข้ามา การผลิตก็ถือว่ามีน้อยกว่าความต้องการใช้

[caption id="attachment_304976" align="aligncenter" width="283"] ธีระชัย ธีระรุจินนท์ ธีระชัย ธีระรุจินนท์[/caption]

บริษัทผลิตและจำหน่ายเฉพาะในประเทศ โรงงานของบริษัทตั้งอยู่บนพื้นที่ 11 ไร่ ที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี มีกำลังการผลิตถุงพลาสติก 850 ตันต่อเดือน และใช้อัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ 80-90% ซึ่งเกือบเต็มการผลิตแล้ว การระดมทุนครั้งนี้เพื่อนำเงินมาขยายสำนักงาน และขยายโรงงานและเครื่องจักรใหม่เพิ่มเติม เพื่อผลิตจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

“ถึงแม้มีกระแสรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อมโดยลดการใช้ถุงพลาสติก แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อยอดขายของบริษัท เพราะเป็นสิ่งที่คนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่มาทดแทนได้อย่างชัดเจน อย่างกล่องโฟมนี่ได้รับการต่อต้านรุนแรงกว่าถุงพลาสติก แต่ผลิตภัณฑ์ที่จะมาทดแทนก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น จึงยังไม่สามารถมาทดแทนกล่องโฟมได้อย่างชัดเจน” P17-2

ปัจจุบัน ครอบครัวธีระรุจินนท์ ถือหุ้นทั้ง 100% ใน TPLAS บริษัทมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 100 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท บริษัทจะเพิ่มทุนเป็น 135 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ขาย IPO จำนวน 70 ล้านหุ้น หลังจากการเสนอขายหุ้น สัดส่วนหุ้นของครอบครัวธีระรุจินนท์ จะลดลงเหลือ 74% และจะเข้าจดทะเบียนในหมวดธุรกิจบรรจุภัณฑ์  TPLAS05

ผลการดำเนินงานของบริษัท ในปี 2558-2560 มีรายได้รวม 501 ล้านบาท, 486 ล้านบาท และ 531 ล้านบาทตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 25 ล้านบาท, 13 ล้านบาท และ 22 ล้านบาทตามลำดับ

ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 มีรายได้รวม 138 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6.89 ล้านบาท จากปริมาณกำลังการผลิตถุงพลาสติกของบริษัทที่เพิ่มขึ้น

นายธีระชัย กล่าวว่า บริษัทมีสโลแกนว่า“มาตรฐาน ทนทาน เหนียวแน่น” ด้วยศักยภาพด้านเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท ทำให้บริษัทมีความพร้อมที่จะมุ่งมั่นก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,391 วันที่ 12-15 สิงหาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว