ทางออกนอกตำรา : คนไทย...อาการน่าเป็นห่วง

08 ส.ค. 2561 | 09:37 น.
526598 เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก!!! คงไม่มีใครรู้ซึ้งกับคำนี้ดีเท่ากับมนุษย์เงินเดือนที่กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของชีวิตการทำงาน ที่วันๆ มัวแต่ก้มหน้าก้มตาทำงาน แต่พอเงยหน้ามาอีกที เอ๊ะ!!! เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

จุดที่เรากำลังจะแก่ แต่ก็ยังไม่ได้วางแผนอะไรรองรับ เหมือนที่ได้ยินกันบ่อยๆก็คือ “แก่ก่อนรวย” 

อย่างที่รู้กันว่า ขณะนี้หลายประเทศในเอเชียต่างเผชิญกับภาวะสังคมผู้สูงอายุ และหากจะพูดถึงประเทศที่มีประชากรอายุยืนที่สุดและมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกแล้วละก็ ทุกคนต้องนึกถึงญี่ปุ่นเป็นอันดับแรกแน่ๆ  ซึ่งจากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) พบว่า ปี 2558 ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวในโลก ที่มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีมากกว่า 30% ของประชากรทั้งประเทศ

และญี่ปุ่นถือว่า เข้าสู่ Hyper-Aged Society หรือสังคมที่มีประชากร อายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดและผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง
566+65++6 UN ยังระบุเพิ่มอีกว่า ในปี 2573 ประชากรโลกจะเพิ่มอีกพันล้านคน โดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากประเทศเกิดใหม่ และในอีก 32 ปีข้างหน้า หรือปี 2593 คาดว่า 80% ของประชากรโลก กลุ่มที่อายุมากกว่า 60 ปี จะอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา และประเทศที่มีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีมากกว่า 30% ของประชากรทั้งประเทศ จะมีถึง 55 ประเทศ

คำว่า สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging society หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่า 7% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งวันนี้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ประมาณปี 2548-2551 แล้ว

และถ้าสังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ หรือพูดอีกอย่าง จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน เราเรียกว่า สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

หรือไม่อีกกรณี หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งคาดกันว่า ภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยภายใน ปี 2568
632665 แล้วถ้าหันมาดูรายได้เฉลี่ยต่อคนกันบ้าง จากรายงานการสำรวจโครงสร้างประชากรและรายได้ต่อหัวของชาวอาเซียนในแต่ละประเทศของฝ่ายวิจัยวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคาร กสิกรไทย ทำให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้ของคนไทยปรับตามขึ้นไม่ทันกับการเป็น“สังคมผู้สูงอายุ”

สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุ ใกล้เคียงกับไทย และเป็น Aging Society แต่คนสิงคโปร์ ช่วงที่มีอายุเฉลี่ย 40 ปี จะมีรายได้เฉลี่ยต่อคน 150,293 บาท/เดือน หรือประมาณ 1,803,515 บาท/ปี ขณะที่คนไทย ช่วงที่มีอายุเฉลี่ย 38 ปี จะมีรายได้เฉลี่ยต่อคน แค่คนละ 17,530 บาท/เดือน หรือประมาณ 210,352 บาท/ปี และหากเทียบกับคนมาเลเซีย ในช่วงที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 29 ปี  จะมีรายได้เฉลี่ยต่อคน ถึงคนละ 26,624 บาท/เดือน หรือประมาณ 319,499 บาท/ปี

หรือจะพูดอีกอย่างคือ  เมื่อเทียบกันแล้วคนสิงคโปร์ แม้จะวัดกัน ช่วงที่มีอายุมากกว่าคนไทย 2 ปี  แต่กลับรวยกว่าคนไทยช่วงที่มีอายุเฉลี่ย 38 ปี ถึง 8.5 เท่า หรือเทียบกับคนมาเลเซียแล้ว เมื่อตอนที่เขามีอายุอ่อนกว่าเรา 9 ปี แต่กลับรวยกว่าเราถึง 1.5 เท่า

และยิ่งมาประกอบกับ ปัญหาการมีลูกน้อยลง จากเดิมที่ครอบครัวคนไทยมีลูก 6 คน เมื่อ 50 ปีก่อน เหลือเพียง 1-2 คนในเวลานี้ แถมอัตราตายในประชากรสูงวัยยังลดลง หรือคนแก่มีอายุเฉลี่ยยืนขึ้นนั่นเอง

แบบนี้เขาเรียกว่า อาการน่าเป็นห่วง

|คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
|โดย...บากบั่น บุญเลิศ (แทน) 
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3390 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-11 ส.ค.2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว