งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

08 ส.ค. 2561 | 04:07 น.
การวิจัยและนวัตกรรม เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่จะตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้ประเทศสามารถปรับตัว รับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบ และการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ศ.น.พ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการ คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ บอกว่า ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2561 หรือThailand Research Expo 2018 จากแนวคิด “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 9-13 สิงหาคมนี้ ที่ โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ และ บางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ จะมีการแสดงงานวิจัยที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัย 9 ด้าน ได้แก่  งานวิจัยและนวัตกรรมด้านความมั่นคง งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการเกษตรอาหารและเทคโนโลยี

020ระบบคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาและผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมอย่างอัตโนมัติ

งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแพทย์และการสาธารณสุข งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพลังงาน งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและข้อมูล และงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อระบบโลจิสติกส์

หนึ่งในงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม คือ “ระบบผนังคอมโพสิตแบบวาฟเฟิล” ของ ดร.ทนงศักดิ์ อิ่มใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย จากกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพลังงาน ที่ตอบโจทย์มนุษย์ติดแอร์ เป็นอย่างมาก เมื่อนักวิจัยคิดค้นให้เป็นระบบผนัง Sandwich Wall ที่นิยมใช้ในต่างประเทศที่มีอากาศหนาว นำโฟมชนิดพิเศษที่มีความแข็งแรงกว่าโฟมทั่วไป ทนความร้อนมาขึ้นรูปให้เป็นแผ่นวาฟเฟิล เมื่อนำมาประกบกัน ช่องว่างที่เกิดขึ้นก็สามารถเทปูนเป็นการเชื่อมติด เพิ่มความแข็งแรงให้กับผนัง สามารถเจาะหรือตอกตะปูสำหรับการยึดติดได้

ผนังระบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เสาเป็นโครงสร้าง จากการทดสอบสร้างบ้านขนาด 60 ตร.ม. ยกพื้นเตี้ยๆ พบว่าอากาศภายในบ้านจะเย็นกว่าภายนอกประมาณ 10 องศาเซลเซียส ค่าใช้จ่ายการก่อสร้างประมาณ 350,000 บาท หรือคิดเป็น ตร.ม. ละ 5,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่าการสร้างบ้านด้วยระบบ Infill Wall หรือการก่ออิฐฉาบปูนในปัจจุบัน เพียงเท่านี้ก็ลดความร้อน เพิ่มความเย็นให้กับแอร์คอนดิชันได้ ช่วยลดต้นทุนและลดการใช้พลังงานได้

ส่วนงานวิจัยจากวัสดุหรือสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ คือ งานวิจัย  “การพัฒนาต้นตำรับครีมเวชสำอางจากเลือดจระเข้สายพันธุ์ไทยสำหรับผิวหนัง” ของ ผศ.ดร.นิศชล แจ้งพรหมมา และคณะ จากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ จากกลุ่มงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแพทย์และการสาธารณสุข “เลือดจระเข้” กำลังจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของคนรักสวยรักงาม เมื่อ นักวิจัยได้ทำการศึกษาผลงานชิ้นเอกนี้เล่าว่า คุณสมบัติของเลือดจระเข้นั้นมีมากมาย จากการศึกษาพบว่าเลือดจระเข้มีคอลลาเจนสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ รวมถึงมนุษย์ อีกทั้งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบ ช่วยผลัดเซลล์ผิวได้ โดยเลือกใช้พลาสมาหรือเม็ดเลือดขาวของจระเข้มาสกัดเป็นสารตั้งต้นในตำรับครีมเวชสำอาง และจากการทดสอบในห้องทดลองพบว่า ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ลดการอักเสบของสิวได้ดี ผิวหนังชุ่มชื้น กระชับเซลล์ผิวได้ดี ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาตำรับเวชสำอางเพื่อการผลิตสู่ตลาด นอกจากนี้ยังทำการพัฒนาศึกษาเพื่อผลิตเป็นเจลปิดแผลเพื่อลดการอักเสบ ติดเชื้อผิวหนังอีกด้วย

009ครีมเลือดจรเข้

และ “โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสาน” หนึ่งในผลงานวิจัยในกลุ่ม งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่คิดค้นออกมาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่นำองค์ความรู้แบบบูรณาการที่ได้จากการลงพื้นที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ้าขาวม้า จังหวัดอุบลราชธานี และผ้าซิ่นตีนจก จากจังหวัดบุรีรัมย์  เพื่อ สืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ความโดดเด่นของโครงการนี้คือ การวิจัยและพัฒนาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา จังหวัดกาฬสินธุ์

โจทย์ที่ได้รับมาคือ ทำอย่างไรให้ผ้าไหมแพรวาขายได้ง่ายขึ้น สร้างรายได้มากขึ้น สร้างความนิยมให้กับโลกของแฟชั่นและขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น จึงออกมาเป็นการนำผ้าไหมแพรวามามิกซ์แอนด์แมตช์กับผ้าทอสีพื้นชนิดอื่นๆ โดยเริ่มต้นกับผ้าลินินก่อนที่เน้นดีไซน์ออกมาให้มีความเรียบโก้ ทะมัดทะแมง ยามสวมใส่ ดูคล่องแคล่วตามสไตล์คนรุ่นใหม่ ที่สามารถสวมใส่ไปทำงานในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เป็น Working women แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นแฟชั่นนิสต้าที่งดงามแบบไทย เป็นต้น ซึ่งหลังการผลิตทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อง่าย ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จึงมีส่วนช่วยพัฒนาต่อยอดผ้าทอไทยและวงการแฟชั่นต่อไปในอนาคต

อีกหนึ่งโครงการคือ โครงการพัฒนาพันธุ์ฟักทองที่มีสารพฤกษเคมี เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารสุขภาพ ของ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา จ.ลำปาง งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการเกษตรอาหารและเทคโนโลยี คิดค้นโดย ดร.ภัทราภรณ์ ศรีสมรรถการ และ ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากผลผลิตฟักทองสายพันธุ์ไทยมีราคาตํ่า คนไทยหันไปบริโภคฟักทองญี่ปุ่นกันมากขึ้น เพราะเชื่อว่าฟักทองญี่ปุ่นนั้นมีสารอาหารทางโภชนาการที่ดีกว่า

มหาวิทยาลัยจึงได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์ฟักทองไทย โดยนำจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์มาทำการผสมพันธุ์ จนได้สายพันธุ์ใหม่กว่า 13 สายพันธุ์ โดยมี 3 สายพันธุ์ที่มีความโดดเด่น ได้แก่ PK11, PK14 และ PK17 คือ ผลผลิตลูกฟักทองที่ได้มีขนาดกลาง 3-5 กิโลกรัมต่อลูก เนื้อมีสีเหลืองสวยไม่เปลี่ยนสีเมื่อผ่านความร้อน เนื้อมีความแน่น เหนียว เมล็ดใหญ่และจำนวนมากต่อลูก เนื้อและเมล็ดฟักทองที่ได้มีสารพฤกษเคมีที่มีปริมาณสูง เช่น ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ สารพรีไบโอติก วิตะวินเอ เบต้าแคโรทีน ไฟเบอร์ โฟเลต และโอเมกา 3 และ 6 สูง ทั้งเนื้อและเมล็ดสามารถนำไปแปรรูปอาหารได้หลากหลาย เหมาะกับผู้รักสุขภาพ แม้จะผ่านความร้อนแต่สารพฤกษเคมีหรือสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็ยังคงมีอยู่สูง รสหวานธรรมชาติเป็นนํ้าตาลที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที เมื่อนำไปประกอบอาหารก็ไม่จำเป็นต้องเติมนํ้าตาลในปริมาณมาก นอกจากนี้ยังนำมาแปรรูปเป็นอาหาร อาทิ คุกกี้ฟักทอง เนยและแยมทาขนมปัง ขนมปังรถฟักทองเนื้อนุ่ม เป็นต้น

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3390 ระหว่างวันที่ 9 - 11 สิงหาคม 2561

e-book-1-503x62-7