เกษตรฯ สั่งระดมช่วยน้ำท่วม - กรมชลฯ เผย 20 ชม. น้ำถึงอำเภอเมือง พร้อมรับมือ

05 ส.ค. 2561 | 07:56 น.
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ได้สั่งด่วนที่สุดถึงปลัดเกษตรและผู้ตรวจกระทรวงขอให้ออกไปตรวจเยี่ยมและแนะนำการปฎิบัติงานช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมและอื่น ๆ ในพื้นที่ช่วงนี้โดยใกล้ชิดด้วย

"หากจังหวัดหรืออำเภอใดมีปัญหาและอุปสรรคการทำงานที่เกินขีดความสามารถของหน่วยงานในพื้นที่ขอให้รายงานท่านปลัด กษ. และอธิบดีที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบด้วยหรือจะแจ้งรมช.กษ. หรือผมด้วย"

ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนแก่งกระจานล่าสุด 5 ส.ค. 61 ว่า ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 701 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 98 ของความจุอ่างฯ มีแผนการระบายน้ำลงลำน้ำเดิมวันละ 9.60 ล้าน ลบ.ม. และจากการประเมินสถานการณ์น้ำเขื่อนแก่งกระจานที่มีน้ำเต็มความจุ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ได้คำนวณปริมาตร

ปัจจุบัน ยังคงมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ มากกว่าการระบายน้ำออก จึงคาดว่า น้ำจะเริ่มล้น Spillway  ในวันที่ 5 ส.ค. 61 เวลาประมาณ 22.00 น. คืนนี้ แต่จะไม่ทำให้เขื่อนเสียหายแน่นอน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน Spillway ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะค่อย ๆ ปรับระดับน้ำขึ้น คล้ายกับการเอียงขันน้ำแต่น้อย เพื่อเทน้ำออกจากขัน ดังนั้น ต้องใช้ช่วงเวลาระยะหนึ่งกว่าน้ำจะไหลผ่าน Spillway เต็มที่ และต้องใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมง จึงจะไหลไปถึงเขื่อนเพชรบุรี ซึ่งในขณะนี้ เขื่อนเพชรบุรีจะสามารถหน่วงน้ำส่วนนี้ได้ช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนน้ำที่เกินจากเขื่อนเพชรบุรีต้องใช้เวลา 20 ชั่วโมง กว่าจะถึงอำเภอเมืองเพชรบุรี

กรมชลประทานได้วางแผนเตรียมการป้องกันน้ำท่วมไว้ก่อนหน้านี้ โดยใช้บทเรียนจากปี 2559 และปี 2560 มาปรับใช้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยดำเนินการเสริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเพชรบุรี พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงของอาคารชลประทานอย่างต่อเนื่อง และติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ก่อนเกิดฝนตกหนัก ยังจุดเสี่ยง โดยเฉพาะจุดที่เกิดน้ำท่วม ทั้งยังทำการพร่องน้ำ เร่งระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี โดยเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำ จากทุกหน่วยงาน รวมทั้งตรวจการขึ้นลงน้ำทะเล ประกอบการวางแผนการเร่งระบายน้ำโดยติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ทำการประเมินสถานการณ์น้ำที่จะระบายผ่านเขื่อนเพชร ในอัตราการระบาย ดังนี้ หากปริมาณไหลผ่านในอัตรา 50-100 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ต.ท่าแร้ง ต.ท่าแร้งออก ต.บ้านแหลม ต.บางขุนไทร กรณีระบายน้ำในอัตรา 100-150ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.หนองโสน ต.บ้านกุ่ม ต.บางครก อัตราการระบายน้ำปริมาณ 150-200ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.คลองกระแซง ต.บ้านหม้อ ต.ท่าราบ ต.ต้นมะม่วง อัตราการระบายน้ำปริมาณ 200-400 ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.บ้านลาด ต.ตำหรุ ต.ท่าเสน ต.ถ้ำรงค์ ต.สมอพลือ และไหลลงคลองส่งน้ำ อัตราการระบายน้ำปริมาณ 400-600 ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.ท่ายาง ต.ยางหย่อง และถ้าอัตราการระบายน้ำปริมาณมากกว่า 600 ลบ.ม./วินาที จะเข้าท่วมเพิ่มเติมพื้นที่ ต.ท่าแลง ต.ท่าคอย และไหลเข้าคลองส่งน้ำ ทั้งนี้ หากมีน้ำล้นทางระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ทุก ๆ อัตรา 10 ลบ.ม./วินาที จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีมีระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 10-15 ซม. ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำ ขอให้ชาวบ้านริมแม่น้ำเพชรบุรี ที่มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำติดแม่น้ำ ท้ายเขื่อนแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ขอให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และเคลื่อนย้ายเด็กเล็ก คนชรา และผู้ป่วย ออกจากพื้นที่

สถานการณ์ปัจจุบัน (5 ส.ค. 61) ระดับในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณใต้เขื่อนเพชร ลงมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ยังต่ำกว่าตลิ่ง เฉลี่ย 2-3 เมตร กรมชลประทานได้ทำการระบายน้ำผ่านเขื่อนเพชรบุรี ผ่านทางช่องระบายน้ำปกติ  กาลักน้ำ และเครื่องสูบน้ำ อยู่ที่ 115 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เมืองเพชรบุรี

อธิบดีกรมชลประทาน มั่นใจว่า จากการทำงานที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า แก้ไขสถานการณ์อย่างเป็นระบบ และติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบูรณาการร่วมมือกันปฏิบัติงานกันทุกหน่วยงาน และองค์กรการกุศล ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด