“บิ๊กเต่า”จ่อชงครม.แก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ใครปลูก58ไม้มีค่ารอเป็นเศรษฐี

01 ส.ค. 2561 | 10:54 น.
“บิ๊กเต่า”ชงครม.ครั้งหน้าเตรียมแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ใครปลูก58ไม้มีค่ารอเป็นเศรษฐี

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ในมาตรา 7 เพื่อให้ประชาชนที่ปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือพื้นที่ของตนเองสามารถตัดไม้ไปขายได้หรือสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเงินได้ว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ออกกฎกระทรวงพาณิชย์ฉบับใหม่ ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจพ.ศ. 2558 เพื่อเปิดทางให้นำไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ โดยกำหนดว่าจะต้องเป็นต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่าจำนวน 58 ชนิด อาทิ ไม้สัก ไม้พะยูง ชิงชัน ประดู่ มะค่า ตะเคียน สะเดา นางพญาเสือโคร่ง ฯลฯ

sura1

“ทั้งนี้คนที่มีต้นไม้มีค่าอยู่ในครอบครองก็อยากจะได้ประโยชน์จากต้นไม้นั้น ซึ่งเดิมกระทรวงทรัพยากรฯ พบว่ามีคนไม่ดี ทำไม้เถื่อน จึงต้องกำหนดเป็นไม้หวงห้าม เช่น ไม้พะยูง อยู่ในพื้นที่บ้านใครแล้วถูกตัดก็จะถือว่ามีความผิด ดังนั้นจึงต้องขอปลดล็อคตรงนี้ โดยทางกระทรวงทรัพยากรฯ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เพื่อขอยกเลิกมาตรา 7 ของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงมาหมดแล้ว ตกผลึกหมดแล้ว รวมทั้งผ่านการทำประชาพิจารณ์ของประชาชนเรียบร้อยแล้ว”

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าวต่อว่า ถ้าเรื่องนี้ผ่าน ครม. ก็จะทำให้ไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ จะเป็นประโยชน์ทางทรัพย์สินของเจ้าของ ซึ่งสามารถขายได้ส่วนรายละเอียดในกติกาเรื่องการรับรองไม้ต่างๆนั้นจะอยู่ในรายละเอียดต่อไป ซึ่งกระทรวงฯ มองในแง่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนปลูกต้นไม้มากขึ้น ซึ่งประชาชนหากมีที่ดินก็สามารถปลูกเอาไว้เพื่อเป็นเงินออมในอนาคตเพราะอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าสูง ดีกว่าการหยอดกระปุก เป็นการปลูกให้เป็นทรัพย์สินได้ เพราะสอดรับกับกฎกระทรวงของกระทรวงพาณิชย์ ที่ผ่านครม.เรียบร้อยแล้ว กระทรวงพาณิชย์ทำได้เร็วหน่อยเพราะเป็นการแก้กฎกระทรวง ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้พระราชบัญญัติก็อาจจะช้าหน่อยแต่เป็นเรื่องเดียวกันและสอดรับกัน
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 “มูลค่าของไม้แต่ละชนิดนั้นจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแล้วตลาดจะเป็นตัวกำหนดมูลค่าของต้นไม้ชนิดนั้นๆ หลักๆ ก็จะมีไม้พะยูง ไม้มะค่า ไม้สัก แต่ถ้าขึ้นอยู่ในพื้นที่ป่าถือเป็นไม้หวงห้าม ห้ามตัด ใครตัดมีความผิด แต่ถ้าเป็นที่กรรมสิทธิ์ นั้นถือเป็นทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้มูลค่าขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดเช่น ไม้สะเดา ก็ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้สวยงาม ตลาดซื้อขายจะเป็นคนกำหนดเองว่าซื้อขายกันยกละเท่าไหร่ คิวละเท่าไหร่ ดังนั้นใครที่มีที่ดินจำนวนมากก็น่าจูงใจให้ปลูกไม้มีค่ากันมากๆ”รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมจึงไม่มีการกำหนดราคากลางของไม้มีค่านั้นเอาไว้ รมว.ทรัพยากรฯ กล่าวว่า ราคากลางจะเป็นไปตามกลไกตลาด อาทิ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป. )จะเป็นตลาดกลางรับซื้อไม้สักอยู่แล้วในปัจจุบัน เมื่อถามว่า ไม้ชนิดใดราคาสูงสุด รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯกล่าวว่า คิดว่าน่าจะเป็นไม้พะยูง

e-book-1-503x62-7