ข้าพระบาททาสประชาชน : เขาจ่ายค่าตัวส.ส. คนละ 30 ล้านจริงหรือไม่?

28 ก.ค. 2561 | 19:22 น.
5655

 

 

วันนี้ขอพูดเรื่องการเมือง การเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมาด้วยคนครับ เพราะมีเสียงอื้ออึงจากพรรคการเมืองเก่า หรือพรรคที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองเพราะ คสช. ต่างออกมาโพนทนาป่าวร้อง โจมตีกลุ่มการเมืองอื่นๆ ที่ออกชักชวนทาบทาม ส.ส.หรืออดีต ส.ส.ให้มาร่วมงานการเมืองในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ในทำนองโจมตีว่าพรรคโน้นพรรคนี้ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ใช้เงิน ใช้อำนาจดูด ส.ส.อดีตนักการเมืองมาร่วมพรรค แบบเป็นพฤติกรรมน่ารังเกียจ ยอมรับไม่ได้ กระทั่งกระเดียดไปในทางว่าเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยไปโน่น ทำประหนึ่งว่ากลุ่มตนพรรคตนบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่เคยทำ

ทั้งๆ ที่อดีตที่ผ่านมา นวัตกรรมการดูด ส.ส.หรือนักการเมืองเข้าพรรคนั้น น่าเกลียดที่สุด โจ๋งครึ่มที่สุด ไม่มีใครเกินอดีตพรรคที่ออกมาโวยวาย เพราะมิได้เป็นไปเพียงแค่ซื้อตัว ส.ส.เข้าพรรคเท่านั้น ทำกันถึงขนาดซื้อยกพรรคกันเลยทีเดียว ยอมซื้อสนามกอล์ฟที่ดินธรณีสงฆ์ที่ได้มาโดยไม่ชอบ เพื่อแลกกับการยอมเข้าร่วมสังกัดพรรคแบบยกกลุ่ม หรือควบรวมพรรคการเมือง ก็ทำกันและมีให้เห็นมาแล้ว
5665965 ดังนั้นเรื่องแบบนี้ในการเมืองไทย จึงเป็นเรื่องไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่ ว่าไปทุกพรรคก็เคยทำเช่นนี้มาด้วยกันทั้งสิ้น ใครจะว่าใครโจมตีใครในเรื่องนี้ จึงฟังไม่ขึ้นสักเท่าไหร่

พิจารณาจากข้อเท็จจริง ดูจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย จะหาพรรคการเมืองที่มีความมั่นคง เป็นสถาบันการเมืองค่อนข้างยาก พรรคที่มีอายุยาวนานและอ้างว่าเป็นสถาบันการเมือง เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เป็นสถาบันการเมืองจริงหรือไม่ เพราะภายในพรรคก็ยังเป็นระบอบพรรคพวก พวกกูพวกมึง แย่งเป็นแก๊งก๊วน ประเภทแก๊งไอติมอย่างนี้ก็มีมาแล้ว มิได้เป็นระบบการจัดตั้งที่เข้มแข็ง มีอุดมการณ์และวินัยพรรคพอที่จะเทียบชั้นเป็นสถาบันการเมืองได้  อย่างเก่งก็แค่เป็นพรรคที่มีอายุเก่าแก่เท่านั้นเอง
5665659 ทุกพรรคล้วนมีเจ้าของ มีขาใหญ่ประจำพรรคทั้งสิ้น ในภูมิภาคเอเชียของเรา ถ้าจะนับถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันการเมืองจริงๆ ผู้เขียนเห็นมีเพียงพรรคคอมมิวนิสต์จีน ลาว เวียดนาม และพรรคก๊กมินตั๋ง หรือพรรคคองเกรสของอินเดียเท่านั้น นอกนั้นยังห่างไกลความเป็นสถาบันการเมือง โดยเฉพาะพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศต่างๆ เขาไม่ค่อยกลัวว่าจะมีใครมาดูดสมาชิกของพรรคเลย มีแต่ขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในทางการเมืองของไทย และเมื่อใกล้ถึงฤดูการเลือกตั้ง มักจะปรากฏข่าวการซื้อตัว ส.ส.เข้าพรรคโน้นพรรคนี้ มีการประมูลตัวกันจ้าละหวั่นด้วยค่าตัวเท่านั้นเท่านี้ 20 ล้าน 30 ล้านบาทบ้าง ต่างก็ว่ากันไป เพราะในสภาเขาตัดสินกันด้วยจำนวนมือ ส.ส. หากพรรคใดประสงค์จะเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล หนุนหัวหน้าพรรคตนเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องรวมเสียงให้ได้มากๆ เกินกึ่งหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้พวกที่มีโอกาสได้รับเลือกเป็น ส.ส.จึงมีค่าตัว หรือเมื่อได้รับเลือกเป็น ส.ส.แล้วก็อาจถูกซื้อตัวภายหลังได้

การเมืองไทยจึงเวียนว่ายตายเกิดอยู่กับเรื่องลงทุนและถอนทุนล้มลุกคลุกคลานไม่มีที่สิ้นสุด แต่ข่าวที่ว่ามีการซื้อตัว ส.ส.เท่านั้นเท่านี้ล้านบาทต่อคน พอถามจริงๆ ว่ามีใครเคยเห็นเขาจ่ายเงินกันบ้าง น้อยคนที่จะหาหลักฐานมาบอกให้ทราบได้ ผู้เขียนติดตามการเมืองและเคยเข้าไปคลุกวงในการเมืองเช่นนี้มาบ้าง ก็ยอมรับว่าไม่เคยเห็นมาก่อนครับ จนกระทั่งเมื่อปี 2558 จึงได้มีโอกาสเห็นใบเสร็จหรือหลักฐาน วันนี้จึงถือโอกาสมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 นี่เอง
481 เขาจ่ายเงินให้ผู้สมัคร ส.ส.รายละ 30 ล้านบาทกันจริงครับ เหตุที่ผู้เขียนทราบเรื่องนี้เพราะว่านายทุนที่จ่ายเงินให้ผู้สมัครไปใช้จ่ายในการเลือกตั้งคราวนั้น เป็นของพรรคการเมืองหนึ่ง จ่ายเงินให้แก่ผู้สมัครรายละ 30 ล้านบาทหลายราย ที่ผู้เขียนทราบมี 5 ราย รวม 150 ล้านบาทโดยผู้ถือเงินจ่ายเป็นลูกน้องของเลขาฯ พรรคนั้น เมื่อจ่ายเงินไปก็ให้ผู้สมัครลงชื่อรับเงินและเซ็นสัญญากู้ให้นายทุนถือไว้ พร้อมเอาโฉนดที่ดินมาวางประกัน ส่วนที่ดินจะราคาคุ้มกับเงินหรือไม่เขาไม่สนใจ

พอเลือกตั้งเสร็จ ผู้สมัคร ส.ส.สอบตกไม่ได้รับเลือกตั้ง ปรากฎนายทุนที่จ่ายเงินเอาสัญญาเงินกู้ที่ผู้สมัคร ส.ส.ลงนามไว้ตามที่เลขาฯพรรคแนะนำ มาฟ้องเรียกเงินคืนจากผู้สมัคร ให้ชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย บรรดาผู้สมัคร ส.ส.เหล่านั้นก็เดือดร้อนสิครับ ในชั้นศาลพวกเขาก็ต่อสู้ว่าไม่ได้กู้เงินกันจริง เป็นเงินที่พรรคจ่ายให้เพื่อช่วยผู้สมัคร นำไปใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง สัญญากู้เงินเป็นนิติกรรมอำพราง จึงเป็นโมฆะและเป็นสัญญาที่ไม่ประสงค์ผูกพันกันจริง ผู้กู้ไม่เคยรู้จักผู้ให้กู้ และการทำสัญญารับเงินดังกล่าวก็เกิดขึ้นเพียง 5 วันก่อนวันเลือกตั้ง โดยเลขาฯพรรคเป็นผู้แนะนำติดต่อให้มาลงนามรับเงินเท่านั้น

เงินก็ไม่ได้รับจริง คนของพรรคเป็นคนนำไปจัดการเองในเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครคนอื่นๆ ก็ทำสัญญาในลักษณะเดียวกัน ในวันและเวลาเดียวกัน แต่นายทุนพรรคก็นำเรื่องมาฟ้องศาลเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย อ้างว่าเป็นสัญญาการกู้ยืมเงิน เรื่องจึงเป็นคดีขึ้นสู่ศาลครับ เผอิญผู้เขียนเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยที่เป็นผู้สมัคร ส.ส.คนหนึ่งในจำนวนนั้น โดยเป็นผู้เขียนฎีกายื่นต่อศาลฎีกาให้ เพราะเขาแพ้คดีชั้นอุทธรณ์มาแล้ว จึงบากหน้ามาหาผู้เขียน จนในที่สุดศาลฎีกาก็ตัดสินยกฟ้อง เพราะไม่เชื่อว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันจริง โดยเชื่อตามข้อต่อสู้ของจำเลยคือบรรดาผู้สมัคร ส.ส.ทำให้ผู้สมัครท่านนี้รอดคดี ไม่ต้องชำระหนี้คืน 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยต่อเจ้าหนี้นายทุนพรรคการเมืองแต่อย่างใด ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปี 2559 ครับ

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงมีโอกาสได้เห็นหลักฐานและวิธีการที่พรรคการเมืองในอดีต หรือการเมืองเก่าๆ ที่ผ่านมาเขาทำกัน เรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาเป็นบรรทัดฐาน จึงเป็นใบเสร็จสำคัญยิ่งกว่าหลักฐานหรือ ใบเสร็จใดๆ เสียอีก เมื่อก่อนฟังเรื่องทำนองนี้ เราท่านอาจไม่เชื่อหรือเห็นเป็นเรื่องโคมลอย แต่บัดนี้ผมเห็นกับตาครับ รู้แล้วว่าการเมืองการเลือกตั้งในอดีต เขาซื้อกันด้วยเงินจริง ๆ ลงทุนกันด้วยเงินจริงๆ คิดอย่างต่ำๆ ถ้าหัวละ 30 ล้านบาท 200 เสียง ก็ 6,000 ล้านบาท การเมืองไทยถ้าจะให้ได้เป็นรัฐบาลก็ต้องลงทุนให้ได้ 250-300 เสียง ต้องลงทุนกันร่วมหมื่นล้านบาท ประเทศจะเหลืออะไร เมื่อมีอำนาจได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ต้องถอนทุนคืนเหมือนอดีตที่ผ่านมา

ระบอบประชาธิปไตยจึงกลายเป็นระบอบธนาธิปไตย ประเทศไทยจะหนีจากการเมืองน้ำเน่า วงจรอุบาทว์นี้อย่างไรอยู่ที่พี่น้องประชาชนครับ เล่าสู่กันฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์เท่านั้น การเมืองไทยในอดีตเขาเล่นกันอย่างนี้แหละ เข้าสู่ยุคปฏิรูปจะเป็นอย่างไร ผมไม่ทราบ ยังไม่มีใบเสร็จครับ

|คอลัมน์ : ข้าพระบาท ทาสประชาชน
|โดย : ประพันธุ์ คูณมี
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า6 ฉบับ 3386 ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ค.2561
e-book-1-503x62