ตลาดรูดปรื๊ดไม่ตาย เปลี่ยนแค่รูปแบบ หันใช้ผ่านออนไลน์

14 ก.ย. 2561 | 10:36 น.
-25 ก.ค.61- ธปท.-แบงก์ประสานเสียง หนุนสังคมไร้เงินสด ไม่กินตลาดบัตรเครดิตล้มหายเหมือนจีนแน่นอน ด้าน “กรุงเทพ-กสิกรไทย” ชี้คนละโมเดล ยันลูกค้านิยมใช้จ่ายด้วยบัตรเครดิต เหตุเงินคนละกระเป๋า แถมมีคะแนนให้สะสม กิจกรรมการตลาดเพียบ QR code เป็นเพียงเพิ่มช่องทางการชำระเงิน

นโยบายการส่งเสริมการโอนเงินออนไลน์ผ่านระบบพร้อมเพย์และ QR code ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่ได้รับความสนใจและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และมีแนวโน้มว่ากำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินของคนไทยส่วนใหญ่ จากความสะดวก รวดเร็ว โดยเฉพาะหลังจากการยกเว้นค่าธรรมเนียม ทำให้ประเมินว่า ไทยจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้เร็วขึ้นและอาจจะกระทบต่อธุรกิจดั้งเดิมอย่างบัตรเครดิต เหมือนที่เกิดขึ้นในจีนจากการส่งเสริมการเป็นสังคมไร้เงินสด จนทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตรายใหญ่ของจีนถึงกับล้มหายตายจากไปจากระบบการเงิน

[caption id="attachment_300526" align="aligncenter" width="356"] สิริธิดา สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา[/caption]

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” แม้การชำระเงินผ่าน QR Code ของไทยเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่ธปท.มองว่า QR Code ไม่สามารถมาทดแทนธุรกิจบัตรเครดิต หรือทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตหายไปจากระบบ เนื่องจาก QR Code ถือเป็นเครื่องมือชำระเงิน ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้ เช่น เลือกใช้ คิวอาร์โค้ด ควบคู่ โทรศัพท์มือถือ
หรือบางคนอาจจะยังใช้บัตรเดบิต เพื่อควบคุมการใช้จ่าย หรือเลือกใช้บัตรเครดิต เนื่องจากมีคะแนนสะสม และกิจกรรมการตลาด

“การใช้แต่ละช่องทางขึ้นกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งแตกต่างจากจีน ที่จะเห็นว่าอัตราการใช้ QR Code ค่อนข้างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเพราะต้นทุนบัตรเครดิตค่อนข้างแพง ทำให้การใช้ QR Code แพร่หลายรวดเร็ว ขณะที่ไทยการใช้บัตรเครดิตมีมานาน และเห็นจากจำนวนบัตรเดบิตที่มีกว่า 50 ล้านใบ สูงตามพฤติกรรมการใช้ของคนไทย ดังนั้น มองว่าการใช้ QR Code ไม่ได้กระทบตลาดบัตรเครดิตแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตาม ภายในไตรมาส 4 หรืออาจเร็วกว่านั้น คาดว่า QR Code Payment ชำระผ่านบัตรเครดิตน่า จะออกจากศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน (Sandbox) หลังจากทดสอบระหว่างธนาคารด้วยกันพบว่า ธุรกรรมไม่ได้สะดุดหรือมีปัญหา จึงสามารถออกจากการทดสอบได้ นอกจากนี้ใน Sandbox ยังมีนวัตกรรมอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการทดสอบและการพัฒนา เช่น E-KYC

MP24-3386-A

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ตลาดบัตรเครดิตและคิวอาร์โค้ดแยกกันชัดเจน เนื่องจากคิวอาร์โค้ด ถือเป็นการรับจ่ายเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง ซึ่งสามารถเลือกช่องทางได้ทั้งในส่วนของบัตรเครดิต บัตรเดบิต และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ซึ่งธุรกิจบัตรเครดิตไม่ได้หายไป เพียงแต่ช่องทางการใช้เปลี่ยนแปลงไป เพราะจะเห็นว่าร้านค้าขนาดใหญ่ยังคงมีลูกค้าที่นิยมใช้บัตรเครดิตชำระเงิน ส่วนหนึ่งมีคะแนนสะสม แลกรีวอร์ดต่างๆ และสถาบันการเงินยังคงมีกิจกรรมกระตุ้นการตลาดสมํ่าเสมอ ส่วนลูกค้ารายย่อยที่เข้าไม่ถึงบัตรเครดิต อาจจะใช้บัตรเดบิตหรือคิวอาร์พร้อมเพย์ ซึ่งจะแยกเซ็กเมนต์ชัดเจน

“บัตรเครดิตกับคิวอาร์โค้ดเป็นคนละตลาด เพราะคิวอาร์โค้ดเป็นช่องทางการชำระ แต่ตัวชำระยังคงเป็นบัตรเครดิต และที่เห็นว่าจีนใช้คิวอาร์โค้ดแพร่หลาย เพราะเขาไม่ได้เริ่มต้นมาจากบัตรเครดิต ไม่มีบัตรเครดิต จึงต้องใช้ผ่านอี-วอลเล็ตแทน ทำให้การใช้คิวอาร์โค้ดไปได้เร็ว ส่วนของคนไทยยังมีบางกลุ่มที่ยังใช้บัตรและยังคงใช้อยู่ แต่ในอนาคตบัตรแข็งๆ อาจจะไปอยู่ในรูปอื่น แต่บริษัทบัตรเครดิตก็ยังอยู่”

นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า โมเดลการทำธุรกรรมระหว่าง QR Code และบัตรเครดิตเป็นคนละโมเดล จะเห็นว่า จีนไม่ได้ใช้บัตรเครดิต เพราะนิยมใช้เงินสดและนำบัตรเดบิตมาเปลี่ยนเป็น QR Code ซึ่งแตกต่างจากไทยที่เริ่มจากการใช้บัตรเครดิตมาก่อนที่จะขึ้นระบบ QR Code ประกอบกับ
การใช้คิวอาร์โค้ดกับบัตรเครดิต ถือว่าเป็นเงินคนละกระเป๋า เนื่องจากคิวอาร์โค้ดลูกค้าสามารถเลือกชำระได้ว่าจะชำระผ่านบัญชีตัวเอง ซึ่งเป็นการตัดเงินทันที หรือชำระผ่านบัตรเครดิตลูกค้าสามารถมีระยะเวลาการผ่อนชำระได้อีก 45 วัน ซึ่งขึ้นกับพฤติกรรมของลูกค้า และลักษณะตลาดแตกต่างจากประเทศจีน

ดังนั้น การใช้บัตรเครดิตในไทยยังคงมีอยู่ แม้ว่าจะมีคิวอาร์โค้ดเข้ามาก็ตาม ขณะเดียวกัน บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับบัตรเครดิต ยังเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้น จึงไม่น่าจะหายไปจากตลาด รวมถึงตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ยังคงใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่ายอยู่ อย่างไรก็ดี ในอนาคตบัตรอาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น Contactless ได้

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,386 วันที่ 26 -28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561