ที่นี่ไม่มีความลับ : ป.ป.ช.สอบตก ‘ยื้อ’ สอบนาฬิกาหรู

24 ก.ค. 2561 | 11:42 น.
2362665 ไม่ได้ผิดความคาดหมายใดๆ ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จะออกคำชี้แจงหาความชอบธรรมในการยื้อการสอบสวนการได้มาซึ่ง “นาฬิกาหรู” ของ ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เพราะไม่มีความคาดหวังใดๆ ตั้งแต่ต้นว่าป.ป.ช.ชุดนี้จะสามารถสอบสวนเรื่องนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาและไม่ไว้หน้าใครเหมือนการสอบสวนเรื่องอื่นๆ

[caption id="attachment_300374" align="aligncenter" width="503"] พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ[/caption]

ถ้อยแถลงของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. และ วรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการป.ป.ช. บอกว่าที่ไม่สามารถตรวจสอบหาชื่อผู้ซื้อจากบริษัทผู้จำหน่ายนาฬิกาได้ เนื่องจากกฎหมายไทยไปบังคับใช้กับเอกชนต่างประเทศไม่ได้ เป็นถ้อยแถลงแบบ “กำปั้นทุบดิน” ป.ป.ช.ได้เคยขอความร่วมมือรัฐบาลประเทศที่บริษัทเอกชนนั้นสังกัดแล้วหรือยัง ในกรณี ริชาร์ด มิลล์ นาฬิกายี่ห้อนี้ ป.ป.ช. ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์แล้วบ้างมั้ย ประเทศเหล่านี้อยู่ในอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันมั้ย ช่วยแถลงให้เป็นที่ประจักษ์หน่อย เพราะแน่นอนว่าเอกชนเขาย่อมปกปิดความลับของลูกค้า แต่ถ้ารัฐเขาใช้กฎหมายหรือขอความร่วมมือ ย่อมมีช่องทางที่หาข้อมูลได้

[caption id="attachment_300384" align="aligncenter" width="503"] วรวิทย์ สุขบุญ วรวิทย์ สุขบุญ[/caption]

โรลส์-รอยซ์ เขาใช้วิธีการรัฐติดต่อกับรัฐเพื่อให้รัฐบาลที่มีอำนาจอธิปไตยเหนือเอกชนที่อยู่ภายใต้รัฐนั้น ให้ข้อมูลและความร่วมมือ หากป.ป.ช.ไม่เข้าใจหลักปฏิบัติอันนี้ และอ้างว่าเอกชนตัวแทนผู้จำหน่ายนาฬิกาไม่ให้ข้อมูล ก็ขอให้ออกไปทั้งชุด เปิดโอกาสให้คนที่เขารู้และทำเป็นมาทำงานดีกว่า

ไม่แปลกใจนัก ภาคเอกชนที่ต่อต้านการคอร์รัปชัน ทั้ง มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน วิญญู ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ รวมทั้ง ต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) จึงดาหน้ามาชี้ว่านี้คือวิธีการ “ยื้อ” การตรวจสอบของป.ป.ช. และเรียกร้องให้สังคมมากดดันให้ป.ป.ช.ทำงานในแนวทาง ที่ถูกต้อง
23++6+55 ว่ากันตามตรงเรียกร้องหา “สามัญสำนึกในหน้าที่” จากป.ป.ช.ชุดนี้คงลำบาก เพราะขนาดเรื่องพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. อันมีประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนในการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการชุดนี้ยังส่งคนที่เป็นกรรมการป.ป.ช. 3 คน เข้าไปเป็นกรรมการวิสามัญพิจารณาแก้ไขกฎหมาย พร้อมผู้ถูกกล่าวหาในคดีป.ป.ช.อีก 2 คน ที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการวิสามัญ จึงร่างกฎหมายออกมามีบทฉพาะกาลไม่ต้อง “เซตซีโร่” ป.ป.ช.ชุดนี้เหมือน กกต. จึงทำให้ดำรงตำแหน่งอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

อนิจจา...ที่มายังคลุมเครือเรื่องการหลบหลีกรัฐธรรมนูญโดยอาศัยกฎหมายลูก ยังจะตั้งความหวังในการตรวจสอบทุจริตที่ “ไม่เลือกปฏิบัติ” อีกหรือ เอวัง...

|คอลัมน์ : ที่นี่ไม่มีความลับ
|โดย เอราวัณ
|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3386 หน้า 14 ระหว่างวันที่ 26-28 ก.ค.2561 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว