สะเทือน!! ตึกจัสมิน 21 มี.ค.เส้นตาย จ่ายค่าใบอนุญาต 900

07 ก.พ. 2559 | 05:30 น.
ประเด็นร้อนแรงในแวดวงกลุ่มทุนสื่อสารขณะนี้ คงหนีไม่พ้นผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี โดยมีผู้ชนะการประมูลจำนวน 2 ราย คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ชนะด้วยราคา 7.629 หมื่นล้านบาท ในชุดคลื่นความถี่ที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 905-915 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 950-960 เมกะเฮิรตซ์ และ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะด้วยราคา 7.565 หมื่นล้านบาท คลื่นความถี่ในชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 895-905 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 940-950 เมกะเฮิรตซ์

การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้จัดประมูลขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. สิ้นสุดลงเวลา 00.15 น. ในวันที่ 19 ธันวาคม 2558 มีรอบการประมูล 198 รอบ ใช้เวลาการประมูลทั้งสิ้น 65 ชั่วโมง 55 นาที (ไม่รวมเวลาหยุดพักการประมูล) ราคาประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 2 ชุดเท่ากับ 151,952 ล้านบาท

 ย้อนช่วงเวลาแห่งความสุขผู้ชนะ

หลัง กสทช. ประกาศผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ผ่านไปเพียงแค่ 2 วัน พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ แจส โมบาย เลือกเอาวันที่ 21 ธันวาคม 2558 แถลงข่าวอย่างเป็นทางการพร้อมทีมผู้บริหาร กล่าวว่า การชนะประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิตรซ์ เป็นการต่อยอดธุรกิจบรอดแบนด์ 3BB (บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) จะเข้ามาเติมเต็มในเรื่องธุรกิจภาพรวมของบริษัทมากยิ่งขึ้น

"การทำธุรกิจ 4 จี จะดำเนินการทุกอย่างภายใต้ แจส โมบาย และจะไม่มีผลกระทบต่อสถานะการเงินของบริษัทแต่อย่างใด ขณะที่บริษัทมีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนพัฒนาโครงข่าย 4 จี ราว 2 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปี และตั้งเป้าลูกค้าในปีแรกไว้ที่ 2 ล้านราย และจากนั้นจะเพิ่มเป็น 5 ล้านรายภายใน 3 ปี"

 "แจส" การันตีทุน+พันธมิตรพร้อม

หลัง "พิชญ์" แถลงข่าวไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ "พิชญ์" ต้องมาแถลงข่าวด่วนอีกรอบในวันที่ 24 ธันวาคม 2558 เป็นการแถลงข่าวในรอบที่สองเพราะมีกระแสข่าวว่า แจส โมบาย ไม่มีเงินจ่ายค่าใบอนุญาต ซึ่ง "พิชญ์" ก็ออกมาการันตีว่าขณะนี้เตรียมตัวหาพันธมิตร และ หาแหล่งเงินทุน ได้รับการสนับสนุนทางการเงินทั้งโครงการจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ เช่น ธนาคารกรุงเทพ และมีแผน นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย เพราะมีระเบียบกำหนดให้สาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคมเข้าระดมทุนได้ทันที

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า แจสโมบาย จะไม่มีแผนเพิ่มทุนอย่างแน่นอน แม้ว่าบริษัทลูกจะชนะการประมูลในราคาสูงถึง 75,654 ล้านบาท เพราะเป็นภาระของบริษัทลูก โดยบริษัทยังมีแผนจะส่งบริษัทดังกล่าวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เช่นเดียวกัน

 ลือหึ่งทิ้งใบอนุญาต

แม้จะออกมาแถลงข่าวถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามว่าเงินมากมายมหาศาล "พิชญ์" จะหาแหล่งเงินทุนจากที่ใด เพราะพอร์ตของบริษัทมีขนาดเล็กกว่ากลุ่มทุนสื่อสารรายอื่นๆ ส่งผลให้มีกระแสข่าวลือมาไม่หยุด แม้ก้าวย่างเข้าเดือนแห่งความรักกุมภาพันธ์ มีกระแสข่าวลือในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ช่องทางโซเชียลมีเดียมีมาอย่างต่อเนื่องที่สำคัญ มีข่าวลือสั่งให้พนักงานเก็บป้ายโฆษณา "แจส 4 จีโมบาย" ที่ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านช็อปและบูธของ 3BB ทั้งๆ หมด ทั้งๆ ที่เส้นตายชำระเงินงวดแรก กสทช. กำหนดไว้ในวันที่ 21 มีนาคม 2558 แต่กระแส แจส โมบาย จะทิ้งใบอนุญาตยังมีต่อ ส่งผลให้ราคาหุ้นของ "จัสมิน" ถูกเทขาอย่างต่อเนื่อง(วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 )ปิดราคาที่ 2.88 บาท จากปลายปี 2558 ราคาเคยถีบตัวสูงขึ้นไปที่ 9.25 บาท ที่สำคัญมีข่าวลือมาตลอดผ่านโซเชียลมีเดียอย่างหนักเกี่ยวกับการจัดเก็บป้ายโฆษณา "แจส 4 จีโมบาย" ที่ทำการประชาสัมพันธ์ ณ ช็อปและบูธของ 3BB

ไม่เพียงเท่านี้บรรดานักวิเคราะห์ออกมาวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น บล.ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ วิเคราะห์ก่อนหน้านี้ว่า แจส มีโอกาสสูงที่จะคืนใบอนุญาต 4 จี เพราะความเป็นไปได้ที่จะได้แบงก์การันตี และ แจส ก็ยังไม่ประกาศพันธมิตร ปัจจุบัน แจส มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท สินทรัพย์รวม 5.1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กลุ่มทรู ได้ประกาศเพิ่มทุนบริษัทไปแล้ว 6 หมื่นล้านบาทเพื่อนำเงินมาชำระในงวดแรก 8,040 ล้านบาท ที่สำคัญมีหนังสือค้ำประกันทางการเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท โดยมีธนาคารพาณิชย์ 5 ราย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารไอซีบีซี จำกัด ซึ่งจะออกหนังสือค้ำประกันในวงเงินที่เท่ากันรายละ 1.46 หมื่นล้านบาท

 ไม่จ่ายริบเงินประกัน

กรณีที่ไม่จ่ายเงินประกัน เงื่อนไขการประมูลของ กสทช. ระบุชัดเจนถ้าผู้ชนะการประมูลไม่จ่ายค่าใบอนุญาตจะถูกริบหลักประกัน 644 ล้านบาท ขณะที่การชำระค่าใบอนุญาต งวดที่หนึ่ง จำนวนเงิน 8.04 พันล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ งวดที่ 2 ชําระ 4.02 พันล้านบาท งวดที่ 3 และงวดที่ 4 ชําระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือทั้งหมด ภายใน 15 วันเมื่อครบกําหนด ระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดย กสทช. จะคืนหนังสือค้ำประกันที่ได้นําส่งในงวดที่ 3 ภายใน 15 วันนับจากวันที่ผู้รับใบอนุญาตชําระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่ 4

 กทค.ออกมากลบกระแส

หลังมีข่าวลือไม่หยุด พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และ ในฐานะประธาน กทค.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ออกมาแถลงข่าวว่า ที่ประชุม กทค.ได้หารือถึงความห่วงใยกรณีการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ของ 2 บริษัทที่ประมูลได้ คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) และบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งที่ประชุมยืนยันว่าทั้ง 2 บริษัทจะต้องนำเงินค่าใบอนุญาตงวดแรก จำนวน 8.04 พันล้านบาท พร้อมกับหนังสือรับรองทางการเงิน (แบงก์ การันตี) มาจ่ายภายในวันที่ 21 มีนาคม 2559 เนื่องจากการประมูลคลื่นความถี่เป็นประโยชน์ของรัฐไปแล้ว ผู้ชนะการประมูลจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขการประมูล ส่วนหากมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้นผู้ชนะการประมูลจะต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐ ไม่เช่นนั้นจะต้องรับผิดชอบตามเงื่อนไขการประมูล

แม้ "แจส โมบาย" จะมีข่าวลือว่า "เบี้ยว" ไม่จ่ายใบอนุญาต หากแต่ความเคลื่อนไหวของ "แจส โมบาย" ขณะนี้ยังประกาศขอเช่าพื้นที่ติดตั้งเสา ส่งสัญญาณ บนเว็บไซต์ 3BB ไม่เพียงเท่านี้ได้มีการสอบถามแผนกบริการติดตั้งพื้นที่ ได้รับคำตอบว่า "เป็นเพียงข่าวลือ" เท่านั้น

ต้องรอดูว่าเส้นตาย 21 มีนาคมนี้ "พิชญ์" จะชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก พร้อมแบงก์การันตีหรือไม่ ต้องรอลุ้น ที่สำคัญถ้า "จัสมิน" ปล่อยให้มีข่าวลือออกไปโดยไม่ชัดเจนขนาดนี้ภาพลักษณ์ และ ความเชื่อมั่น จะหมดลงในทันที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559