เกมรุกบิ๊กอสังหาฯ

09 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาฯ แล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นไปของตลาดถูกกำหนดโดยการเคลื่อนตัวของรายใหญ่ที่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดข้างมากไว้ในมือ จากการประมวลทิศทางผู้ประกอบการรายใหญ่ปีนี้พบว่า "เกมรุก" ของกลุ่มท็อปไฟท์ ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียว บางส่วนวางน้ำหนักแนวราบ บางรายเน้นรักษาสมดุลตลาด แต่อีกรายประกาศชัดว่า เข็มมุ่งของตนคือ ตลาดคอนโดมีเนียมราคาแพง

[caption id="attachment_30120" align="aligncenter" width="503"] 5 แนวโน้มอสังหาฯปี 2559 5 แนวโน้มอสังหาฯปี 2559[/caption]

 โฟกัสตลาดต่างกัน

เริ่มจาก บมจ.พฤกษา เรียล เอสเตท ปีนี้ผู้นำของวงการ ประกาศรุกแนวราบเต็มสูบ โดยเพิ่มสัดส่วนพัฒนาโครงการทาวน์เฮาส์เป็น 70% (เป้าโครงการใหม่ปีนี้ 65 โครงการ) เช่นเดียวกับ บมจ.ศุภาลัย หรือรายกลาง บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ บมจ.มั่นคงเหะ บมจ.สัมมากร ที่วางน้ำหนักรุกไว้ที่โครงการแนวรายเช่นกัน ส่วน บมจ.แลนด์แอนด์เฮาส์ ปีนี้ขยับตัวในลักษณะ"สมดุล"ระหว่างการพัฒนาอสังหาฯ แนวราบกับแนวตั้งอีกทั้งยังคงกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงอย่างสุดๆ สะท้อนจากจัดงบซื้อที่ดินปีนี้ไว้ 7 พันล้านบาท และอีก 7 พันล้านบาท สำหรับลงทุนอสังหาฯ เพื่อเช่าทั้งในและต่างประเทศ

 คอนโดฯหรูยังแข่งดุ

ถัดมา บมจ.แสนสิริ ซึ่งประสบความสำเร็จจากการขาย และเลหลังสินค้าในปีที่ผ่านมา ปีนี้คงเข็มมุ่งไว้ที่คอนโดฯ เหมือนเดิม ไฮไลต์ของค่ายนี้ คือเปิดตัวโครงการคอนโดฯสุดหรูริมถนนวิทยุราคาเฉลี่ย สูงถึง 5.5 แสนบาทต่อตารางเมตร(ตรม.) นอกยังมีผู้ประกอบการอีกหลายรายที่เล็งรุกตลาดคอนโดฯ หรูโดยเฉพาะโซนสุขุมวิท เช่นกัน อาทิ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ บมจ.อนันดา บริษัท เฟรแกรนท์ ดิเวลลอปเมนท์ฯ มีแผนเปิดโครงการคอนโดหรูริมถนนสุขุมวิทรวม 7 โครงการ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะเติมให้ดีกรีการแข่งขันชิงตลาดคอนโดฯ หรูระอุขึ้นอีก

 ตลาดบนเป้าหมายเดียวกัน

อย่างไรก็ดีเป็นที่น่าสังเกตว่า บิ๊กอสังหาฯเกือบทุกค่ายขยับเป้าหมายทางการตลาดของตัวเองขึ้นสู่ตลาดบนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ประกาศเพิ่มสัดส่วนตลาดบ้านราคา 50-100 ล้านบาทมากขึ้น หรือ บมจ.ศุภาลัย ที่ปีนี้คงเดินหน้ารุกต่อเนื่องมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนตลาดบ้านระดับราคา 6 ล้านบาทขึ้นไปเป็นต้น

 เอาจริงโกอินเตอร์

นอกจาก "เกมรุกข้างต้นแล้ว" ปีนี้ผู้ประกอบการหลายรายประกาศรุกตลาดต่างประเทศจริงๆจังๆ หลังมีสัญญาณบวกจากความสำเร็จในการขาย "คอนโดฯ" เมื่อปีที่ผ่านมา และเป็นการขยับตัวกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุนของผู้ประกอบการเองอีกทั้งยังเป็นผลจากการโอกาสที่เพิ่มขึ้นจากการมาถึงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ เออีซี

ตัวอย่างการรุกต่างประเทศเช่น บมจ.แสนสิริ เล็งเจาะตลาดจีนหลังประสบความสำเร็จจากการคอนโดฯรวมทุนกับพันธมิตรและมีแผนสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้ในตลาดอสังหาฯระดับภูมิภาคด้วย หรือ บมจ.ศุภาลัยฯ ที่ประสบความสำเร็จขยายการลงทุนไปต่างประเทศในช่วงปีสองปีทีผ่านมาปีนี้จึงมีแผนเพิ่มการลงทุนอสังหาฯ เพื่อเช่าในกรุงมนิลาประเทศฟิลิปปินส์ และขยายการลงทุนโครงการจัดสรรในออสเตรเลีย

ทั้งนี้การขยายตลาดไปต่างเทศไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ สำหรับวงการอสังหาฯ ไทย ก่อนหน้านี้ บิ๊กอสังหาฯหลายรายเริ่มไป ทดลองตลาดมาก่อนแล้วเช่น บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ บมจ.พฤกษา บมจ. พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค โดยมีเป้าหมายแสวงหาโอกาสใหม่ๆ กระจายความเสี่ยง และรักษาเป้าหมายอัตราเติบโตเอาไว้

เกมรุกถัดมาคือมุ่งพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสที่ผสมผสานระหว่างอาคารสำนักงาน โรงแรมและที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายหันมาพัฒนาโครงการลักษณะนี้สำหรบที่ดินในทำเลมีอนาคต เช่นกรณีกลุ่มทีซีซีพัฒนาโครงการที่ดินย่านสวนลุมพินี หรือ กลุ่มสิงห์เรียลเอสเตทเป็นต้น กล่าวโดยสรุปแล้ว เกมรุกของบิ๊ก อสังหาปีนี้ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก เน้นแนวราบ มุ่งตลาดบน โกอินเตอร์ และฮิตมิกซ์ยูส

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559