บราซิลรับส้มหล่นหลัง "มะกัน-จีน" เปิดศึก! ตลาดถั่วเหลืองโลกป่วน

16 ก.ค. 2561 | 09:04 น.
2636666526 เมื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้ากว่า 800 รายการจากจีนมูลค่ารวม 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 ก.ค. 61) จีนตอกกลับด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 545 รายการจากสหรัฐฯมูลค่าเท่าเทียมกัน และ “ถั่วเหลือง” ก็เป็นสินค้าเป้าหมายอันดับต้นๆ ที่จีนล็อกเป้าโจมตี เพราะนี่คือพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 ของสหรัฐฯ รองจากข้าวโพด และจีนก็เป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 ที่นำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอเมริกา


[caption id="attachment_298314" align="aligncenter" width="503"] FILE PHOTO: Workers transport imported soybeans at a port in Nantong, Jiangsu province, China April 9, 2018. REUTERS/Stringer/File Photo FILE PHOTO: Workers transport imported soybeans at a port in Nantong, Jiangsu province, China April 9, 2018. REUTERS/Stringer/File Photo[/caption]

นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯทวีอุณหภูมิร้อนแรงยิ่งขึ้นราคาถั่วเหลืองซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐอเมริกาก็อยู่ในทิศทางขาลงมาโดยตลอด จากที่เคยอยู่ในระดับ 10.50 ดอลลาร์ต่อบุชเชล ขณะนี้ (6 ก.ค.) ลงมาอยู่ที่ 8.95 ดอลลาร์และก่อนหน้านี้ไม่กี่วันก็เคยร่วงลงไปถึง 8.60 ดอลลาร์ ผู้นำเข้าของจีนหลายรายยกเลิกการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯในช่วงก่อนหน้านี้เพราะไม่ต้องการเผชิญอัตราภาษีที่สูงขึ้น บางรายก็เร่งการขนส่งเพื่อให้ถึงท่าเรือของจีนก่อนวันประกาศขึ้นภาษี นอกจากนี้ ยังมีการแสวงหาตลาดต่างประเทศ ที่จีนจะสามารถซื้อถั่วเหลือง มาทดแทนถั่วเหลืองจากสหรัฐ อเมริกา และนั่นก็ทำให้ประเทศผู้ ผลิตและส่งออกถั่วเหลืองรายอื่นๆเช่น บราซิล พลอยได้รับอานิสงส์ นอกจากจะได้รับออร์เดอร์สั่งซื้อถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นแล้ว ยังสามารถส่งออกในราคาที่สูงขึ้นด้วย

TP10-3382-A 2 ทิศทางสร้างผลเสียระยะยาว

นักวิเคราะห์ระบุว่า การตอบโต้ของจีนอย่างน้อยใน 2 รูปแบบจะสามารถสร้างความเสียหายในระยะยาวให้กับเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ประการแรก คือเมื่อจีนเพิ่มการผลิตภายในประเทศ เพราะปัจจุบันจีนผลิตถั่วเหลืองภายในประเทศพอใช้ป้อนความต้องการบริโภคได้เพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น ส่วนใหญ่จึงยังพึ่งพาการนำเข้า ดังนั้น เมื่อตอนนี้จีนมีปัญหากับแหล่ง ผลิตใหญ่อย่างสหรัฐฯ ก็เป็นไปได้ว่ารัฐบาลจีนจะหันมาอัดฉีดมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองภายในประเทศกันมากขึ้น ซึ่งนั่นจะส่งผลกระทบต่อถั่วเหลืองของสหรัฐฯในระยะยาว

ประการที่ 2 แนวโน้มการหันไปนำเข้าถั่วเหลืองจากประเทศอื่นๆ มากขึ้นซึ่งหมายถึงการสูญเสียลูกค้าของสหรัฐฯ  ปัจจุบัน จีนนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลมากเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ แม้ว่าบราซิลจะไม่สามารถเพิ่มผลผลิตเพื่อส่งออกมายังจีนในปริมาณมากเพียงพอจะทดแทนออร์เดอร์จากสหรัฐฯที่ลดลง แต่บราซิลก็น่าจะเพิ่มผลผลิตได้มากพอในอนาคต หากจีนจะสามารถรับประกันการสั่งซื้อในระยะยาว
soybean-content-seed ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข่าวจากรอยเตอร์ที่รายงานว่า จีนได้ลดภาษีนำเข้าถั่วเหลืองให้กับ 5 ประเทศในเอเชีย จากระดับ 3% ที่ตํ่าอยู่แล้วให้เหลือเพียง 0% เรื่องนี้เป็นการตอกยํ้าว่า จีนพร้อมหาแหล่งซื้อใหม่ๆเพื่อทดแทนถั่วเหลืองจากสหรัฐฯที่มีราคาสูงขึ้นเนื่องจากถูกเก็บภาษีเพิ่ม ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนมีนโยบายบุกลงทุนในต่างแดนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจีนจะมีแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่จีนต้องการ กลับมายังประเทศตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องง้อตลาดอย่างสหรัฐอเมริกา

บราซิลเองก็มีแรงจูงใจที่จะผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นเพราะนอกจากยอดสั่งซื้อที่ทะยานขึ้นมาในช่วงนี้แล้ว ยังมีปัจจัยค่าเงินมาเป็นแรงสนับสนุนอีกด้านหนึ่ง โดยนับตั้งแต่ต้นปีมา ค่าเงินเรียลของบราซิลอ่อนตัวลงแล้ว13% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บราซิลมีความได้เปรียบในการส่งออก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองรายใหญ่ของโลก (จีนนำเข้า 63% ของปริมาณส่งออกถั่วเหลืองทั้งหมดของโลก) เพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และนํ้ามันถั่วเหลือง ฉะนั้น การมีปัญหากับประเทศผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ ก็จะทำให้ต้นทุนผลิตสินค้าเหล่านี้มีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสุดท้ายจะไปส่งผลต่อภาคธุรกิจเอกชนและผู้บริโภคของจีนเอง

เป็นที่คาดหมายว่า ปีหน้า (2562) จีนจะมีความต้องการนำเข้าถั่วเหลืองมากกว่า 100 ล้านตัน ซึ่งนั่นเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่บราซิลจะผลิตป้อนได้ (ปีที่แล้วจีนนำเข้าจากสหรัฐฯ 36 ล้านตัน) นักวิเคราะห์จึงเชื่อว่าในระยะสั้น จีนเองจะยังได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ แต่หลังจากนี้ไป 3-4 ปี ประเทศอื่นๆ ที่เป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศในอเมริกาใต้ จะสามารถเพิ่มผลผลิตของตัวเองและส่งออกตอบสนองความต้องการของจีนทดแทนถั่วเหลืองจากสหรัฐฯได้ในที่สุด
US-China-Trade-War-2-960x576
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว
| รายงาน : บราซิลรับส้มหล่นหลัง "มะกัน-จีน" เปิดศึก! ตลาดถั่วเหลืองโลกป่วน
| โดย : โต๊ะข่าวต่างประเทศ
| หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3382 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ค.2561